2019 WEEK 27 "ธาวิน หาญบุญเศรษฐ"

2019week27
2 กรกฎาคม 2019 8 view(s)
2019 WEEK 27 "ธาวิน หาญบุญเศรษฐ"

ABOUT HIM

 

สัปดาห์นี้ ชวนมาทำความรู้จักกับ WARchitect (วอร์คิเทค) บริษัทออกแบบที่เพียงแค่ฟังชื่อก็ชวนให้มโนไปถึงคาแรคเตอร์ของความบู๊ล้างผลาญหรือความพร้อมลุยและฟาดฟัน ส่วนวิถีแห่งดีไซน์ที่แท้จริงนั้นเล่าเป็นอย่างไร? จะดุเด็ดเผ็ดสมชื่อขนาดไหน ไปคุยต่อกับ คุณวิน - ธาวิน หาญบุญเศรษฐ  ผู้ร่วมก่อตั้ง Octane architect & design  และผู้ก่อตั้ง WARchitect

 

ผมมองว่า “อาชีพสถาปนิกเสมือนอยู่ในสงครามตลอดเวลานะครับ” แต่ไม่ได้เป็นสงครามที่เราต้องไปทะเลาะรบราแย่งชิงกับสถาปนิกท่านอื่น  แต่ “มันเป็นสงครามภายในใจของเราเอง”  เช่น ขณะที่เรากำลังออกแบบงานชิ้นหนึ่งอยู่ เมื่อออกมาเป็นรูปเป็นร่างแล้วกลับไปมีความคล้ายกับงานของสถาปนิกท่านอื่นโดยไม่ได้ตั้งใจ  แล้วเราจะยังปล่อยงานออกไปแบบนี้ไหม หรือเราต้องหาแนวทางอื่นและถ้าแนวทางนั้นดีกับลูกค้าน้อยกว่าแนวทางแรก (ที่ไปคล้ายกับงานของคนอื่น) เราจะตัดสินใจอย่างไร หรือหากมีภาษาทางสถาปัตยกรรมรูปแบบหนึ่งที่เราต้องการนำเสนอ  แต่มีสถาปนิกท่านอื่นเคยทำไว้อย่างดีมากๆ เราจะมีวิธีการเล่าหรือนำเสนอภาษาทางสถาปัตยกรรมนั้นๆ ให้แตกต่างออกไปได้อย่างไร

 

ส่วนที่มาของชื่อ WARchitect (วอร์คิเทค) ต้องขอย้อนกลับไป 4 ปีที่แล้ว ผมกับพี่พาร์ทเนอร์ใช้ชื่อสำนักงานว่า Octane architect & design ซึ่งค่อนข้างยาว  ต่อมาเมื่อพี่พาร์ทเนอร์ขอยุติบทบาทเปลี่ยนสายธุรกิจ ผมเลยอยากตั้งชื่อสำนักงานใหม่ให้สั้นที่สุดแทน  แต่เมื่อคนเห็นแล้วต้องพอทราบว่า คือ สำนักงานออกแบบสถาปัตยกรรม จึงคิดง่ายๆ ว่า ผมเองชื่อ วิน เมื่อใช้ตัวอักษร W เพียงตัวเดียววางลงไปหน้าคำว่า Architect จะออกมาเป็นคำใหม่ WARchitect (วอร์คิเทค) ซึ่งก็มีความหมายสอดคล้องกับมุมมองต่อวิชาชีพของผมพอดีครับ

 

งานส่วนมากของ WARchitect จะเป็นงาน Private ซึ่งหลักๆ เป็นบ้านส่วนตัว หรือเป็นโครงการที่เจ้าของตัดสินใจและทำเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง เช่น อพาร์ทเมนท์ สำนักงาน เนื่องจากเราคิดว่า เราต้องการ “สร้างงานที่มีความเป็นศิลปะตอบสนองทางด้านอารมณ์ ควบคู่ไปกับฟังก์ชั่นการใช้งานด้วย”  และเพื่อให้สามารถทำได้ตามเจตนารมณ์  เราจึงต้องการอิสระและความชัดเจนในการตัดสินใจจากเจ้าของค่อนข้างมาก  ซึ่งถ้าหากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่เน้นการขาย บางครั้งความสวยงามบางอย่างจะต้องถูกลดทอนลง  เพื่อตอบสนองต่อต้นทุนทางธุรกิจซึ่งผมเข้าใจเป็นอย่างดี กลับกันหากเป็นงานส่วนตัว ลูกค้ามักอยากเพิ่มความต้องการและงานดีไซน์เข้าไปอีก ซึ่งในที่สุดก็จะทำให้งบเกิน  ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมาแม้ว่าเราจะแจ้งเตือนลูกค้าแล้ว  แต่แทบไม่มีใครยอมตัดงบให้เสียดีไซน์นั้นไปเลย  ตรงกันข้ามถ้างบไม่พอเขาจะไปหามาเพิ่ม!  ถ้าเวลาก่อสร้างไม่พอเขาก็พร้อมจะยืดออกไป!  เพื่อพยายามสร้างความฝันของเขาให้เป็นจริงที่สุด  ผมว่านี่เป็นเสน่ห์และความได้เปรียบอย่างหนึ่งของโปรเจค  Private ครับ

 

ในส่วนของ “การสร้างงานที่มีความเป็นศิลปะตอบสนองทางด้านอารมณ์ ควบคู่ไปกับฟังก์ชั่นการใช้งาน” นั้น กล่าวคือ โดยทั่วไปมนุษย์มักมี “ความต้องการพื้นฐาน” คล้ายคลึงกัน  เช่น ห้องนอนต้องมืดสนิท  หรือการแยกส่วนเปียกส่วนแห้งภายในห้องน้ำ สิ่งเหล่านี้ “เป็นเหตุเป็นผล” เป็นการใช้งานที่ดีสำหรับทุกคน...แต่สิ่งที่ “ตอบสนองทางด้านอารมณ์” เป็นเรื่องส่วนตัว ที่แต่ละคนไม่จำเป็นต้องมีความเห็นเหมือนกันก็ได้  สิ่งที่มีผลต่อความรู้สึกของคนหนึ่งมากอาจจะเป็นเรื่องไร้สาระสำหรับอีกคนหนึ่งก็ได้  เช่น โดยพื้นฐานเราคิดว่ารถที่ดีที่สุดคือ ต้องนั่งสบาย นั่งได้หลายคน จุของได้เยอะ ประหยัดพลังงาน  แต่ต้องอย่าลืมว่ารถที่มีมูลค่าสูงที่สุดกลับเป็นรถซูเปอร์คาร์  ที่นั่งไม่สบาย  นั่งได้เพียง 2 คน จุของแทบไม่ได้ แถมยังเปลืองน้ำมันด้วย  หรือถ้ารองเท้าที่ดีที่สุดต้องใส่สบาย แต่ผู้หญิงส่วนมากกลับยอมสบายน้อยลงบ้างบนส้นสูง เพื่อให้ดูสง่ามั่นใจขึ้น  เช่นเดียวกันกับ “งานสถาปัตยกรรม” โดยนิยามงานสถาปัตยกรรมที่ดีจะต้องตอบสนองการใช้งาน  ประหยัดพลังงาน  ค่าก่อสร้างไม่แพง  ซึ่งหากพิจารณาแต่เพียงเรื่องเหล่านี้ อาคารที่อยู่อาศัยรวมน่าจะตอบสนองได้ดีที่สุด บ้านขนาดพันตารางเมตรที่อยู่กันเพียงสองคนคงจะไม่ผ่านเกณฑ์แน่ๆ แต่จะมีความสุขได้อย่างไร ถ้าสถาปัตยกรรมนั้นๆ ไม่ตอบสนองด้านอารมณ์แก่ผู้อยู่อาศัยอย่างเพียงพอ

 

ในสำนักงานของเราจึงไม่ค่อยใช้คำว่า “ดี” กับงานสถาปัตยกรรมนัก  เพราะเราไม่แน่ใจว่า “คำว่าดี” ควรตัดสินใจโดยใคร แต่มักจะใช้คำว่า “น่าสนใจ” หรือ “เหมาะสม”มากกว่าครับ ลูกค้าบางท่านบอกกับเราเลยว่าอยากให้บ้านของท่านเป็นที่น่าจดจำเป็นที่ภาคภูมิใจ หรือบางท่านเน้นกับเราเลยว่าอยากให้สามารถลงหนังสือออกสื่อต่างๆได้ หากได้ลงปกหนังสือลงเว็บไซต์ออนไลน์ชื่อดังจากต่างประเทศหรือได้รับรางวัลทางสถาปัตยกรรมจากต่างประเทศด้วยจะยิ่งดี  ซึ่งผมมองว่า สิ่งนี้คือการ “ตอบสนองทางด้านอารมณ์รูปแบบหนึ่ง” ถ้าลูกค้ามีงบประมาณมากพอ การที่สถาปนิกจะออกแบบบ้านให้ออกมาแล้วถูกเรียกว่า “คฤหาสน์บ้านหรู” คงไม่ใช่เรื่องยาก แต่หากต้องกล้ารับประกันว่าจะได้ลงหนังสือหรือได้รับรางวัลแน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมากๆ  สิ่งเหล่านี้เป็นความภาคภูมิใจโดยส่วนตัว  ที่ลูกค้าซึ่งประสบความสำเร็จด้านอาชีพมีเงินมากมายแล้ว ต้องการเพิ่มขึ้นมาจากบ้านที่ฟังก์ชั่นดี

 

ยกตัวอย่าง บ้าน Y/A/O ที่ผมออกแบบร่วมกับพี่พาร์ทเนอร์  สมัยที่ยังใช้ชื่อว่า Octane architect & design ในตอนแรกทางเจ้าของบ้านส่งตัวอย่างเป็นบ้านหลังหนึ่งที่ออกรายการบ้านและสวนมาให้เรา  ลักษณะเป็นบ้านทรงโมเดิร์นสีเทาอ่อนๆ ทรงกล่องเรียบๆ  ซึ่งตอนนั้นเราพึ่งก่อตั้งสำนักงานได้เพียง 3 เดือน จึงยังไม่มีแนวทางการออกแบบที่ชัดเจน จึงออกแบบบ้านไปตามตัวอย่างที่ได้มา  ผ่านไป 2 เดือนก็ออกแบบเสร็จเป็นรูปเป็นร่าง แต่ผมคิดว่ามันแทบไม่แตกต่างจากบ้านที่ลูกค้าให้เป็นตัวอย่างเลย  ไม่เพียงเท่านั้น  หากว่ากันตามตรง...มันก็ไม่แทบไม่ต่างจากบ้านโมเดิร์นอีกเป็นร้อยเป็นพันหลังที่เห็นกันโดยทั่วไป

 

ซึ่งหากตัดจบเพียงเท่านี้ ก็คิดว่าทางลูกค้าอาจจะพอใจระดับหนึ่ง  แต่เราเองต่างหากที่ยังไม่พอใจ เพราะเมื่อสร้างเสร็จแล้ว เราทราบเลยว่ามันจะ “ไม่ตอบโจทย์ทางด้านอารมณ์และไม่ถูกจดจำ” หรือสร้างความภาคภูมิใจให้กับทางลูกค้าอย่างที่ท่านฝันไว้  ผมจึงแจ้งกับลูกค้าว่าถ้ายังไม่รีบสร้างผมขอเวลาออกแบบใหม่ ซึ่งเขาก็ยินดีมากๆ จากนั้นเราก็เริ่มต้นกันใหม่ โดยคราวนี้ผมไม่ได้ใช้วิธีเดิม ซึ่งก็คือขึ้นแปลนตามการใช้งานไปก่อน  แล้วไปตกแต่งหน้าตาอาคารทีหลัง  แต่ผมเริ่มต้นที่จะทำสองอย่างไปพร้อมๆ กัน

 

ในช่วงนั้นภาษาทางสถาปัตยกรรมรูปแบบหนึ่งที่เป็นการปาด Façade ของอาคารให้มีการเฉียงกำลังเป็นที่นิยม (ซึ่งก็ยังเป็นที่นิยมอยู่ในปัจจุบัน) ผมจึงสนใจว่าภาษาทางสถาปัตยกรรมนี้ จะสามารถผลักดันให้ไกลที่สุดได้แค่ไหน เพราะเท่าที่เห็นส่วนมากจะใช้เพียงตกแต่งผนังและฝ้าภายนอก แต่ด้านในหรือระบบโครงสร้างยังเป็นปกติ เราจึงใช้ภาษานี้ออกแบบให้แปลน ระบบโครงสร้าง แนวผนัง ฝ้า ทั้งหมดเป็นภาษาแบบเดียวกัน ทั้งภายในและภายนอก ทำให้เกิดคอร์ดตรงกลางขึ้นซึ่งเราได้ใช้คอร์ดนี้ในฟังก์ชั่นที่เหมาะสมแตกต่างกันไป เช่น เป็นโถงทางเข้า เป็นคอร์ดให้ห้องนั่งเล่น หรือ เป็นคอร์ดห้องน้ำส่วนตัว

 

สำหรับผม “สถาปัตยกรรมที่มีรูปทรงน่าสนใจไม่ได้แปลว่าฉาบฉวยตื้นเขิน ส่วนสถาปัตยกรรมที่ดูนิ่งเรียบก็ไม่ได้แปลว่าลุ่มลึกกว่า” มนุษย์ใช้การมองเห็นในการรับรู้เป็นหลักผมจึงมีความเห็นว่า อาวุธของสถาปัตยกรรมที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือความงาม เป็นสิ่งที่ลูกค้าคาดหวังมากที่สุดเมื่อมาหาเราว่าอยากได้งานออกแบบที่สวย แต่แน่นอนว่าเราไม่ได้สร้างสถาปัตยกรรมเพื่อไว้ถ่ายรูปให้ได้ยอดไลค์ยอดแชร์มากๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงการใช้งานจริง  ทุกครั้งที่งานออกแบบของผมจะทำให้ลูกค้าต้องใช้งานยากขึ้นบ้าง  ผมจะแจ้งเสมอ  เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจว่าสามารถยอมรับได้ไหม

 

นี่คือสิ่งที่เป็น “ความซื่อสัตย์ในวิชาชีพของเรา”  ยกตัวอย่างเช่น มีห้องประชุมหนึ่งที่ประตูเป็นกระจก แต่เราไม่อยากติดมือจับหรือตัวล็อคเลย  เพราะจะทำให้กระจกเปลือยๆ ต้องมีอุปกรณ์มาติด  ซึ่งท่านเจ้าของก็ชอบและเห็นด้วยกับเรา ทำให้เวลาใช้งานต้องใช้ไหล่ดันประตูแทน หรือต้องให้แม่บ้านมาทำความสะอาดบ่อยๆ ซึ่งไม่ใช่ลูกค้าทุกท่านที่จะชอบแบบนี้จนยินยอมที่จะลำบากขึ้น ฉะนั้น มีอะไรเราต้องแจ้งเขาตามจริงเพราะเมื่องานออกแบบสร้างเสร็จ “มันไม่ใช่จุดสิ้นสุด”  หากแต่คือ “จุดเริ่มต้น” ของสถาปัตยกรรม...สถาปนิกอยู่กับงานสถาปัตยกรรมนั้นเพียงชั่วขณะหนึ่ง  แต่ลูกค้าต่างหากที่จะต้องอยู่กับมันตลอดไป

 

  • ทำให้งานออกแบบชัดเจนและทรงพลัง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น สามารถทำได้โดยการจัดองค์ประกอบสิ่งต่างๆ ให้มีที่มาที่ไป หรืออ้างอิงซึ่งกันและกัน คือ  1.การให้แนวของเส้นตรงกัน (Alignment)  2.การอ้างอิงจากกึ่งกลาง (Center) 3.การอ้างอิงจากแบ่งสัดส่วนที่เท่ากัน (Divide) 4.การไม่ให้แกนของเส้นตัดกัน (Intersection)  ตัวอย่างเช่น หากที่บ้านมีตู้ Pantry ชิดผนัง ขนาดกว้าง 3.60 เมตร (หน้าบาน 60 ซม. จำนวน 6 บาน) เมื่อเวลาผ่านไป ต้องการจะทำไอส์แลนด์ไว้ใกล้ๆ กัน อาจจะเริ่มโดยวางตำแหน่งไอส์แลนด์ให้อยู่กึ่งกลางของ Pantry โดยให้ไอส์แลนด์มีขนาด 2.40 เมตร โดยให้แนวเส้นขอบตรงกับแนวหน้าบานของตู้ด้านหลัง  และเมื่อจะติดตั้งซิงค์บนไอส์แลนด์  ก็กำหนดให้กึ่งกลางห่างจากขอบไอแลน 0.60 เมตร เพื่อให้ซิงค์อยู่เป็นสัดส่วน 1:4 ของไอส์แลนด์ แต่เป็นกึ่งกลางของหน้าบานตู้แพนทรีด้านหลังด้วย เป็นต้น

 

  • การเลือกชุดเฟอร์นิเจอร์ให้มีภาษาของตัวเอง จะช่วยสร้างเอกลักษณ์ในตัวงานมากขึ้นกว่าการเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่ถูกใจทุกตัว  “แต่ไม่มีภาษาที่สอดคคล้องกัน”  ยกตัวอย่างเมื่อไปเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์สำหรับห้องรับแขกอาจจะเลือกตัวที่คุณชอบที่สุดก่อน เช่น โซฟาตัวใหญ่ที่ดูมีเอกลักษณ์ของมัน (อาจเป็นโซฟาหุ้มผ้าสีเทา มี Texture  โครงขาเป็นสีดำกลมๆ ขึ้นมาล็อคตัวเบาะเอาไว้)  ต่อมาเมื่อจะเลือกโต๊ะกลาง เก้าอี้เลาจ์หรือแม้กระทั้งกระถางต้นไม้ก็อาจจะเลือกที่มีลักษณะเดียวกัน  คือมีขาเป็นเหล็กสีดำกลมๆ เหมือนกัน หรือใช้ผ้าที่ใกล้เคียงกัน แต่ถ้าหากเราเลือกแต่ละตัวจากที่เราชอบเป็นหลัก ในที่สุดแล้วอาจจะไม่เข้ากันหรือแย่งกันเด่น จนทำให้งานออกแบบดูล้นและไม่ชัดเจน

 

 

Favorite items

 

Living Inspiration @ SB Design Square

 

ห้องนี้มีการใช้สีโมโนโทน ขาว-เทา-ดำ ทำให้ห้องดูมีรสนิยม ผนังลามิเนตสีน้ำตาลอ่อนหรือผนังไม้ลามิเนตก็เลือกใช้โทนสีที่ซีดให้คุมโทนไปด้วยกัน ระนาบหรือวัตถุที่มีขนาดเป็นผืนใหญ่ใช้โทนสีอ่อน ขาว-ทำ ส่วนวัตถุหรือระนาบที่เล็กหรือมีลักษณะเป็นเส้นเลือกใช้สีดำตัดกันเป็นสัดส่วนที่ดี

 

 

โดยส่วนตัวนอกจากโทนสีธรรมชาติอย่าง ขาว-เทา-ดำ-ไม้ แล้ว หากจะต้องให้มีสีเพิ่มอีกหนึ่งสี ผมจะเลือกใช้โทน Copper ซึ่งอาจจะมีผิวแฮร์ไลน์ดูเป็นทองแดง หรือผิวที่หยาบไม่สม่ำเสมอเหมือนสนิมได้อารมณ์ Rustic เมื่อสีโทนนี้ตัดกับสีดำจะให้ความหรูหราที่ไม่แก่ สามารถใช้ได้กับทั้งห้องของผู้ชายและผู้หญิง

 

ต้องการความช่วยเหลือทักแชตเลย

Live Chat With SB Design Squarex