2019 WEEK 24 "เชาว์วัฒน์ กิตติธรกุล"

2019week24
11 มิถุนายน 2019 12 view(s)
2019 WEEK 24 "เชาว์วัฒน์ กิตติธรกุล"

เชาว์วัฒน์ กิตติธรกุล

 

สัปดาห์นี้ พูดคุยกับ คุณเชาว์วัฒน์ กิตติธรกุล แห่ง Studio Mahutsachan สถาปนิกผู้สั่งสมประสบการณ์ทั้งจากแวดวงวิชาชีพและวิชาการ มายาวนานถึง 15 ปี ความคมคายของดีไซน์สะท้อนอยู่ในทุกรายละเอียด พร้อมส่งมอบ “ความมหัศจรรย์” ทั้งในแง่มุมทางความคิดและผลงานออกแบบ

 

สตูดิโอมหัศจรรย์ ก่อตั้งโดย คุณศิริวัฒน์ ปัจฉิมะศิริ และ คุณเชาว์วัฒน์ กิตติธรกุล ซึ่งทั้งสองท่านเป็นอาจารย์ภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร “ในการทำงานหนึ่งๆ เราไม่ได้มีขั้นตอนหรือรูปแบบที่ตายตัว และพยายามจะให้ทุกงานมีคำถามเสมอ คือให้มี Statement ของงาน เราจะพยายามคิดว่างานนี้เราอยากจะทดลองเรื่องอะไร ลองตั้งสมมุติฐานไปว่าถ้าเป็นอย่างนี้ๆ แล้วจะเป็นยังไง ฉะนั้น แนวทางของออฟฟิศ คือ เราชอบทดลองครับ ระหว่างทฤษฎีที่เราเรียนมากับภาคปฏิบัติที่ได้จากประสบการณ์ทำงานจริง เราชอบทดลองทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน เพื่อพยายามค้นหาแนวทางใหม่ๆ  สตูดิโอของเราไม่มี Signature หรือสไตล์อะไรที่ชัดเจน  เพราะเราคิดว่าแต่ละงานที่ทำมันเหมือนการตัดเสื้อ ซึ่งลูกค้าแต่ละคนก็มีขนาดรูปร่าง ความชอบ และอะไรๆ ที่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้น งานเราจะเริ่มจากการตีโจทย์จาก User เป็นหลัก ไม่ใช่ตั้งต้นด้วยการกำหนดสไตล์ครับ”

 

มุมมองเรื่องการออกแบบบ้าน...ในฐานะผู้ออกแบบผมมองว่า  จริงๆ เราทำบ้านแค่ครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งต้องรอให้ User มาเติม สมมุติเวลาเราไปเห็นบ้านสวยๆ ในนิตยสาร...ก็ใช่ มันสวย! แต่คำว่า “สวย” กับ การที่ผู้อยู่อาศัยมีความสุข ผมว่าเป็นเรื่องที่อาจจะไม่เกี่ยวกันก็ได้นะ  คือ ผู้อยู่อาศัยอาจมีความสุขจากความภูมิใจ แต่ว่าเวลาใช้ชีวิตอยู่จริงเขาอาจจะไม่มีความสุขก็ได้  ในมุมมองของผมคือ “บ้าน” เป็นสิ่งที่สถาปนิกออกแบบ Framework ไว้ส่วนหนึ่ง  แต่ไม่ได้ทำบ้านเสร็จร้อยเปอร์เซ็นต์  ผมเชื่อว่าสถาปนิกแค่ดีไซน์กรอบไว้ให้  ดีไซน์เปลือกอาคาร ดีไซน์ตำแหน่งของเฟอร์นิเจอร์ หรือมีแนวทางการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหลักไว้ให้  แต่ว่าที่เหลือซึ่งเป็นเรื่องของการใช้ประโยชน์พื้นที่  User ต้องเป็นคนทำเอง ซึ่งอันนั้นน่าจะเป็นสิ่งที่ตอบรับกับพฤติกรรมของเขาอย่างแท้จริง

 

เวลาออกแบบบ้าน จะมีอยู่ประมาณ 2-3 ประเด็น ที่ผมสนใจและให้ความสำคัญ คือ การเลือกใช้วัสดุจริง หมายถึงถ้าเลือกได้ เราก็ไม่อยากใช้วัสดุเทียม อย่างกระเบื้องลายไม้หรือลามิเนต แต่จริงๆ ก็ต้องยอมรับว่าลามิเนตสมัยนี้คุณภาพดีขึ้นมากซึ่งผมก็ใช้ แต่ถ้าเลือกได้ผมจะใช้ไม้จริง เพราะผมมองว่า “ของจริง” มันมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า เช่น หินเทียบกับกระเบื้อง  ไม้จริงเทียบกับไม้เทียมหรือลามิเนต แม้ว่าไม้จริงจะต้องมีการบำรุงรักษาที่สูงกว่า แต่ไม้เป็นวัสดุที่มีความเป็นสัจจะของมันอยู่ เมื่อผ่านไปมันก็จะเป็นเหมือนกับบันทึกเรื่องราวของเวลาไว้ด้วย ขณะที่ของบางอย่างที่จะไม่เก่าไปตามกาลเวลา มันอาจดูไม่ค่อยมีเสน่ห์เท่าไหร่ แต่ทั้งนี้ก็แล้วแต่งานด้วยครับ ถ้ามีงบให้เราก็จัดเต็ม แต่ถ้ามีจำกัดเราก็จะช่วยประหยัดให้ แต่ว่างานโดยรวมของเรา จริงๆ ก็ไม่ได้แฟนซีมากในเรื่องวัสดุ เราไม่ถนัดจับวัสดุร้อยแปดอย่างมารวมกันอยู่ในห้องเดียว แต่แนวทางของเรา เวลาเราทำงานสถาปัตยกรรม จะมีกฎเลข 3 อยู่ หมายถึง เราอาจจะใช้วัสดุที่ไม่เกิน 3 อย่าง อย่างที่หนึ่งจะสัก 70% อย่างที่สองสัก 20-25% และอย่างที่สามสัก 5-10% ซึ่งมันจะเกิดความงามได้โดยอัตโนมัติ

 

อย่างที่สองคือ เวลาที่เราอยากจะทำพื้นที่ที่ให้ความรู้สึกว่าน่าอยู่น่าสบาย เราจะคิดถึงคำว่า Micro space  คือ พื้นที่เล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ใช่สี่เหลี่ยม ประมาณว่าขนาด 4x6  นั่งกัน 6 คน แล้วก็หย่อนโซฟา 6 ที่นั่งเข้า มีทีวีตรงนั้น มีคอนโซลตรงนี้ อันนั้นเป็นวิธีการทำงานที่ไม่ใช่ Micro Space แต่คือ Single Space  ซึ่งผมว่า Micro Space คือเราต้องคิดว่าแต่ละคนที่จะทำกิจกรรม  ในระดับหนึ่งกิจกรรมนั้นเขาต้องใช้อะไรบ้าง เช่น จะนั่งเล่นไอแพด เล่นเกมอยู่คนเดียว ก็อาจต้องการพื้นที่เอนนอนได้และขนาดไม่ต้องใหญ่มาก ก็น่าจะเพียงพอสำหรับกิจกรรมนั้น  ซึ่งเราก็จะได้ Space เล็กๆ ที่อยู่ใน Space ใหญ่ๆ  หรือใน Single Space ก็ได้ ซึ่งวิธีการแบบนี้ จะทำให้เกิดพื้นที่แบบจะนั่งข้างบนก็ได้ อยู่ข้างล่างก็ได้  หรือไปแอบนั่งข้างหลังหรือข้างหน้าก็ได้  ให้ความรู้สึกคล้ายๆ นกที่จะไปเกาะตามที่ต่างๆ ได้ นกไม่ได้ต้องการรังที่ใหญ่ คือเราจะเริ่มต้นจากการคิดถึงหน่วยเล็กๆ ก่อน แล้วหน่วยเล็กๆ จะมาประกอบกันอย่างไรในพื้นที่ใหญ่  

 

Micro Space อาจเป็นลักษณะพื้นที่ที่เป็นซอกเป็นหลืบ เช่น ทำที่นั่งแบบ Bay Window ที่หน้าต่างของอาคาร หรืออาจจะเป็นการต่อเติมพื้นที่เล็กใต้หลังคา ทำม่านกั้น ให้ User เหมือนกับแอบขึ้นไปเล่นข้างบนได้ ถ้าเป็นเด็กผู้ชายน่าจะเข้าใจอารมณ์นี้ คือมันเป็นพื้นที่ที่เราอยากจะปีนขึ้นไปแอบ แล้วไม่มีใครรู้ อารมณ์ประมาณนั้น คือมันจะมีความเป็นซอกเล็กๆ เหมือนพื้นที่ของเด็กๆ แต่เป็น “ซอกหลืบที่มีฟังก์ชั่น” ผมชอบใส่พื้นที่แบบนี้ลงไป ซึ่งมันก็เป็น Space น่ารักๆ ที่ให้ความรู้สึกซูเปอร์พิเศษเลย ซึ่งพื้นที่แบบนี้จะทำให้เราไม่ได้เห็นทุกอย่างเคลียร์ทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เป็นอะไรที่ดูแอบซ่อน และไม่ใช่พื้นที่ที่คนทั่วไปคาดหวัง ทำให้บ้านรู้สึกพิเศษขึ้น ผมคิดว่าเราแต่ละคน แม้จะโตเป็นผู้ใหญ่ แต่เราก็ยังมีมุมที่อยากจะหนีจากส่วนรวมบ้าง ซึ่งพื้นที่แบบนี้ทำให้ราโฟกัสกับตัวเองได้

 

และสิ่งหนึ่งที่ “เราจะพยายามไม่ทำ” เวลาออกแบบบ้าน คือ พื้นที่แบบห้อง หรือ Room Type ครับ ลองนึกถึงบ้านจัดสรร ที่พอเข้าไปแล้วเจอ Space ที่เป็นห้องๆ ซึ่งถูกแบ่งแยกกันอย่างตัดขาด แต่สิ่งที่เราพยายามทำคือ ใช้วิธีการกั้นหรือสร้างความเป็นส่วนตัวในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ความเป็นห้องๆ แบบนั้น เพราะถ้าเราตั้งต้นความคิดของคำว่า “ห้อง” จาก “สี่เหลี่ยม” ที่มาเรียงต่อกัน จะทำให้ระบบความคิดของเราไม่หนีจากการเป็นอาคาร แต่ถ้าเรา “คิดจากความสัมพันธ์” คิดจากความไม่มี Room Type คือคิดจากพื้นที่โล่งๆ คิดจากหน่วยย่อยแล้วค่อยๆ โตไปเป็น Space…เราจะได้พื้นที่ที่ไม่เป็นห้อง แต่จะเป็นพื้นที่ที่สื่อความสัมพันธ์ เช่น ในพื้นที่หนึ่ง ที่เปิดแอร์แล้วเย็นทั่วกัน...คุณจะเรียกมันว่าห้องไหม? และถ้าพิจารณาในรายละเอียดแล้วพบว่า ในพื้นที่นี้ประกอบไปด้วยตู้หนังสือตรงนี้ ซึ่งมีอ้อมหลังไปเป็นตู้เสื้อผ้าของห้องนอนลูกชาย  มีส่วนของโฮมเธียร์เตอร์เล็กๆ (ที่มีม่านรูดเปิดปิดเพื่อความเป็นส่วนตัวได้) โดยพื้นที่เหนือโฮมเธียร์เตอร์ถูกออกแบบเป็นลานโล่งให้เด็กๆ ขึ้นไปนอนเล่นได้ ใกล้ๆ กันมีแพนทรีไว้นั่งทานข้าว ข้างๆ กันเป็นครัว ซึ่งอ้อมหลังไปจะเป็นห้องน้ำ...ถ้าลองนึกภาพไปด้วยกัน จะเห็นว่าพื้นที่นี้ ประกอบไปด้วยหลายๆ Space แต่ก็ไม่เห็นจะมีลักษณะที่จะเรียกว่า “ห้อง” ได้เลย  มันคือการที่เราจัดองค์ประกอบของพื้นที่ขึ้นมาจากจุดเล็กๆ มาต่อกัน

 

ส่วนตัวผมเชื่อว่างาน “บ้าน” เป็นงานที่ยากที่สุดในบรรดางานสถาปัตยกรรมทั้งหลาย แม้กระทั่งงานในเชิงเทคนิคที่มีความซับซ้อน ผมว่ามันก็ไม่ซับซ้อนเท่ามนุษย์ และมนุษย์จะมีความซับซ้อนยิ่งขึ้นในเรื่องที่เป็นความต้องการของตัวเอง ทีนี้คำถามคือเราจะสามารถตั้งคำถามหรือเล่นอะไรได้มากไหม อันนี้ก็ขึ้นกับขอบเขตและวิธีการของเรา บางทีลูกค้าอาจจะมีชุดความรู้แบบทั่วไปว่า “บ้านที่สวย” ต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เวลาออกแบบเราอาจจะแทรกอะไรบ้างอย่างเข้าไป เหมือนเป็นการแอบให้ข้อมูลความรู้บางอย่างในเชิงประจักษ์ เพื่อให้เขาได้เห็นว่า “บ้าน” สามารถเป็นอะไรที่ต่างไปจากสิ่งที่เขาคิดได้บ้าง

 

  • กรอบของบ้าน บ้านเป็นสิ่งที่จะอยู่กับเราไปอีกนาน  ฉะนั้น ความชอบของเราวันนี้อาจไม่ได้ตัดสิน สิ่งที่ควรจะเป็นจริงๆเราควรต้องเอาความชอบในทั้งช่วงชีวิตของเรา หรืออะไรที่  งามแบบไร้กาลเวลา อันนั้นต่างหากคือสิ่งที่เราควรไปหา  ผมคิดว่า บ้านไม่ควรเป็นอะไรที่ฉาบฉวย ไม่ควรเป็นอะไรที่อิงไปกับกระแสเทรนด์มากๆ เช่น สีนี้กำลังมานะ  ต้องรีบหยิบมาใช้ ห ผมว่าแบบนั้นไม่ใช่ไอเดียของ บ้าน

 

 

  • การตกแต่งภายใน คำว่า Timeless ของผม หมายถึง  เรายินดีกับมันในวันนี้ พรุ่งนี้เราก็ยังยินดีอยู่ ผ่านไปนานๆ เราก็ยังยินดีกับมันดังนั้น มันควรเป็นสิ่งที่ไม่โฉ่งฉ่าง ทั้งในเรื่องของ สี ที่ไม่ต้องโดดเด่นเกินไป หรือชุดสีที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา เช่น ขาว เทา ดำ บวกน้ำเงินบวกแดง ผิวสัมผัส ที่มีความเป็นธรรมชาติอยู่ในตัว คือผมมองว่าตัวอาคารมันจีรังระดับนึง แต่สิ่งที่เราใส่เพิ่มเติมได้คือตัวเฟอร์นิเจอร์ซึ่งจะทำงานไปกับ Framework ของตัวสถาปัตยกรรม เรามีสิทธ์เปลี่ยนโต๊ะ เก้าอี้ พรม ภาพบนผนังแต่ทั้งหมดควรอยู่บนโครงของไอเดียเรื่องความ Timeless

 

 

Favorite items

 

Living Inspiration @ SB Design Square

 

ชอบมุมนี้ ตรงที่เป็นการใช้สีคู่ง่ายๆ อย่างดำ-แดง ทำให้ดูน่าสนใจ คือสีแดงมันดูโดด แล้วก็บวกกับ Lighting ที่ทำให้เรารู้สึกสงบ แต่ก็ดูน่าสนใจอยู่ในตัว เป็นมุมที่ดูเรียบง่ายไม่ซับซ้อนแต่น่าสนใจครับ

 

 

ส่วนมุมห้องนอนนี้ ชอบตรงที่มีการใช้วัสดุธรรมชาติบวกกับสีของผ้าปูและปลอกหมอนที่ทำให้รู้สึกสงบ ผมรู้สึกว่ามันเป็นห้องนอนที่ดูง่ายแต่ให้ความรู้สึกสบายครับ

 

ต้องการความช่วยเหลือทักแชตเลย

Live Chat With SB Design Squarex