2019 WEEK 20 "คำรน สุทธิ"

2019week20
14 พฤษภาคม 2019 11 view(s)
2019 WEEK 20 "คำรน สุทธิ"

ABOUT HIM

“ในมุมมองของผมคำว่า ECO คือ การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ส่วนแง่มุมเรื่องการประหยัดพลังงานนั้น เป็นแค่ผลพลอยได้...มนุษย์คือธรรมชาติอย่างหนึ่ง ถ้าธรรมชาติถูกทำลาย มนุษย์ก็จะหายไปด้วย และมันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องทำอะไรบางอย่างที่จะช่วยให้ธรรมชาติอยู่กับเราไปนานๆ แม้เราจะเป็นเพียงจุดเล็กๆ แต่ในทุกงานที่เราทำ ก็ควรทำเพื่อสิ่งนี้ด้วยจึงจะเป็นงานที่มีคุณค่า”...นี่คือคำบอกเล่าของสถาปนิกหนุ่มผู้มุ่งมั่นในวิถีแห่งการออกแบบ “บ้านที่หายใจร่วมกับธรรมชาติ” คุณแก้ว-คำรน สุทธิ Managing Director จาก Eco Architect

 

เวลาจะดีไซน์อะไรสักอย่าง เราจะพยายามมองหาว่า “ธรรมชาติตรงนั้น” มีอะไรบ้าง ก็จะหยิบมาใช้ให้มากที่สุด เช่น ถ้ามีต้นไม้ใหญ่ก็จะใช้บังแดดให้ตัวอาคาร กรองความร้อน กรองฝุ่นอะไรทำนองนั้น คือ ต้องพยายามมองหาศักยภาพของพื้นที่เพื่อมาทำบ้านให้อยู่สบายที่สุด และอีกแนวทางหนึ่งคือ เราจะพยายามสร้างบ้านให้เล็กที่สุด คือให้มี Footprint น้อยที่สุด เป็นลักษณะของ Passive Building เพื่อให้ธรรมชาติเติบโตไปกับตัวบ้าน และพยายามรักษาระบบนิเวศน์เดิมไม่ให้สูญเสียไป เพราะถ้าบ้านทุกหลังสร้างจนเต็มเนื้อที่ หมู่บ้านนั้นคงจะไม่มีพื้นที่สีเขียว แต่ถ้าเราสร้างแค่ “พอดีพออยู่” และอยู่คู่กับธรรมชาติด้วย ก็จะกลายเป็นหมู่บ้านที่ไม่ได้มีแค่บ้าน แต่จะมีต้นไม้โผล่ขึ้นมาทุกหลัง มันก็จะกลายเป็นชุมชนที่น่าอยู่มากๆ

 

ซึ่งการที่ธรรมชาติสามารถเติบโตอยู่ข้างๆ บ้าน จะทำให้เราได้เรื่องของ Passive Cooling คือ มีต้นไม้ให้ร่มเงา มีการระเหยน้ำที่จะช่วยดึงความร้อนขึ้นไป ทำให้บริเวณข้างล่างเย็น  ส่วนตัวอาคารเราก็จะพยายามสร้างชายคาเยอะๆ เพื่อกันแดดกันฝน แล้วก็จะมีเรื่องของ Earth Cooling คือให้ลมไหลผ่านดินทำเป็นแอร์ดิน โดยใช้แผงโซลาร์เซลล์เป็นแหล่งพลังงานช่วยในกระบวนการดูดลม และพยายามสร้างช่องเปิดในทิศทางที่ลมเข้า-ออก เป็นต้น ซึ่งที่พูดมาทั้งหมดนี้ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีอะไรเลย แต่ใช้ธรรมชาติล้วนๆ บวกกับการคำนวณทิศทางลม การโคจรของดวงอาทิตย์ การยื่นกันสาดเพื่อบังแดด ซึ่งเป็นการออกแบบที่เราพยายามทำความเข้าใจธรรมชาติ  

 

แต่ถ้าไซต์งานไม่มีต้นไม้ เราก็ต้อง “เว้นที่ให้ต้นไม้” เข้าไปอยู่ในที่ที่ควรจะอยู่ เช่น ทิศตะวันตกซึ่งแดดเยอะ ส่วนจะปลูกต้นอะไร ก็ต้องมาดูว่า “เราจะปลูกเพื่ออะไร” เพราะไม่ใช่จะปลูกแค่ใช้กันแดดหรือเพื่อความสวยงามอย่างเดียว แต่บางทีอาจจะปลูกไว้กินผลหรือปลูกผักอะไรด้วยได้ไหม หรืออย่างของเสียในครัวก็สามารถนำไปเลี้ยงไส้เดือนได้ มูลไส้เดือนก็นำกลับไปดูแลต้นไม้ต่อได้ ใบไม้ที่ร่วงก็นำไปหมักทำปุ๋ยได้ คือเราจะพยายามทำให้เป็น Zero Waste  โดยจะคอยตั้งคำถามเป็นเรื่องๆ ว่าพอจะทำอะไรได้บ้าง แล้วค่อยนำมาเชื่อมต่อกันเป็นงานสถาปัตย์ที่เราออกแบบ และวางพื้นที่สำหรับสิ่งต่างๆ ให้พอดีกับงาน เหมือนเป็นการออกแบบนิเวศน์สถาปัตย์ไปด้วย ซึ่งระบบนิเวศน์ภายนอก คือ การพยายามให้ธรรมชาติข้างนอกเติบโตไปกับบ้านได้ ส่วนระบบนิเวศน์ภายใน คือ การทำให้บ้านอยู่สบาย ทั้งในแง่ของมุมมอง (Visual Comfort) อุณหภูมิที่สบาย (Thermal Comfort)  รวมถึงเสียง กลิ่น และคุณภาพของอากาศภายในบ้าน

 

แต่แม้แนวทางเราจะ ECO มากๆ แต่ประเด็นหลักที่เราใช้ในการทำงานคือ การต้องตอบรับกับผู้อยู่อาศัย (Human Centric) ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน ระดับความ ECO  ก็แตกต่างกัน เราแค่ใส่ให้พอดีกับคนคนนั้น เพื่อให้เขาอยู่ได้อย่างมีความสุข และอีกสิ่งที่ต้องมีคือคำว่า ECO Proficiency คือผมมองว่าเราไม่ได้ทำงานอย่างเดียว แต่เราต้อง “ให้ความรู้” กับลูกค้าและทีมงานของเราด้วย

 

ส่วนการเลือกใช้วัสดุของผมจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของ Timing หรือกาลเทศะมากกว่า เช่น โปรเจคที่เป็นออฟฟิศ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เราใช้ทำงานตอนกลางวัน ซึ่งจะได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ค่อนข้างเยอะ เราก็ควรหาวัสดุที่มันป้องกันความร้อนจากดวงอาทิตย์ได้ดีกว่าวัสดุที่จะใช้เป็นห้องนอน เพราะห้องนอนเราใช้งานตอนกลางคืน มันแทบไม่โดนแดดเลย ส่วนเรื่องสไตล์ผมไม่ได้เน้น เพราะเป็นเรื่องที่ขึ้นกับลูกค้าชอบ แต่ผมจะให้ความสำคัญกับเรื่อง “อยู่สบาย” ก่อน โดยพยายามหาวัสดุที่เหมาะกับสถานที่ตั้ง การใช้งาน และช่วงเวลาที่ใช้งานในพื้นที่ตรงนั้นมากกว่า

 

และเบื้องต้นผมจะพยายามหาวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นก่อน เพราะผมให้ความสำคัญกับเรื่องของ “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น”...ไม่ใช่ว่าเราไปอยู่ภาคเหนือแล้วเราเอาบ้านแนวทะเลทรายหรืออะไรไปวาง ผมว่ามันคงไม่ได้ แต่มันต้องตอบรับกับสภาพอากาศ สภาพภูมิประเทศ วัฒนธรรมและศาสนา โดยเฉพาะเรื่องของ “การใช้วัสดุท้องถิ่น” ก็เป็นเรื่องที่เราให้ความใส่ใจมากๆ  อย่างงานที่เราไปทำที่อำเภอปัว จ.น่าน เป็นรีสอร์ทหนึ่งที่เขาพัฒนาขึ้นมาจากบ้านเก่าๆ ซึ่งเราก็ไปเจอที่โน่นว่าเขามีวัสดุที่น่าสนใจคือ อิฐเมืองน่าน เป็นวัสดุที่ถูกหลงลืมไปแล้ว มันถูกกองๆทิ้งไว้ เราเลยเอาอิฐนั้นมาลองเรียงเป็นผนัง ซึ่งก็ทำให้ได้งานที่ออกมาดูสวยมีเสน่ห์ดี

 

อีกคำที่ดู “เหมือนเบาบาง” แต่มีความหมาย คือคำว่า Harmony ซึ่งผมให้ความสำคัญในแง่ของความกลมกลืนระหว่างคน บ้าน และธรรมชาติ ซึ่งมันอยู่แยกกันไม่ได้ คือเราไม่ได้อยู่คอนโดเป็นกล่องๆ ที่พออยากจะไปสวน ก็ต้องลงไปเดินข้างล่าง แต่เราอยู่บ้าน...ดังนั้นในการดีไซน์ผมก็จะพยายามให้ธรรมชาติไหลเข้าไปข้างในได้บ้างหรือไหลออกมาข้างนอกได้บ้าง อาจจะเป็นการไหลในแง่ของ Visual หรือออกแบบพื้นที่ด้านในให้ยื่นออกไปข้างนอกหน่อย ให้รู้สึกเหมือนถูกโอบล้อมด้วยธรรมชาติ รู้สึกว่าสัมผัสธรรมชาติได้ง่ายขึ้น คือมันเป็นเรื่องของ Space หรือ Feeling อะไรบางอย่าง

 

หลายคนอาจมองว่า การสร้างบ้านให้ ECO อาจมีต้นทุนสูง เพราะคนจะมองไปในเรื่องการเลือกใช้วัสดุหรือระบบอะไรต่างๆ แต่จริงๆ จะบอกว่า มันอาจเท่ากับหรือถูกว่าการสร้างบ้านปกติก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราอยากทำแค่ไหน แต่ตามปกติผมจะนำเสนอแบบพื้นฐานไปก่อน ตัวอย่างโปรเจคที่ราชบุรี ลูกค้าเศษไม้อยู่เยอะ ซึ่งผมมองว่าเป็นวัสดุที่เอามาสร้างบ้านได้ ไม่จำเป็นต้องไปซื้อวัสดุใหม่ ก็ช่วยให้ลูกค้าประหยัดไปได้อีก  ถ้าจะทำบ้านแนว ECO จริงๆ แล้วมันไม่ได้จำกัดรูปแบบว่าต้องเป็นอย่างไร เพราะมันจะอย่างไรก็ได้ แต่ขอให้จิตสำนึกของบ้านเป็นอีโค่ก็แล้วกัน คือ เราพยายามใช้ทรัพยากรให้น้อย ใช้แบบประหยัด ใช้ให้คุ้มค่า...นี่ต่างหากที่คือหัวใจ ไม่ใช่เปลือก

 

  • แอร์ดิน ดินมีอุณหภูมิคงที่เสมอประมาณ 23-24 °C บางที่ขุดเจาะบ้านให้อยู่ในดิน ทำให้อุณหภูมิภายในของบ้านคงที่  บางที่วางท่ออยู่ในดินแล้วก็ให้ลมวิ่งผ่าน ลมร้อนจาก 30 °C  พอไหลผ่านท่อที่ขดอยู่ในดินซึ่งอุณหภูมิต่ำกว่า ก็จะสูญเสียความร้อนให้กับดินและกลายเป็นลมเย็นออกมา กลายเป็นแอร์ธรรมชาติที่มีคุณภาพ

 

  • บ้านในเขตร้อนชื้นควรมี พื้นที่ 3 อย่าง คือ 1.Outdoor เป็นพื้นที่เปิดโล่ง แบบที่สามารถโดนแดดโดนฝนได้ ใช้เวลาเราอยากออกไปนั่งดูดาว เล่นน้ำฝน หรืออยากเอาอะไรไปตากแดดจัด 2.Semi Outdoor เป็นพื้นที่ที่อยู่ในร่มเงา ซึ่งจะเป็นพื้นที่สำหรับการเปลี่ยนผ่านระหว่างข้างนอกกับข้างใน เป็นพื้นที่สำหรับปรับความรู้สึกของคน และจะเป็นพื้นที่ที่คนใช้งานมากที่สุดในช่วงกลางวัน 3.Indoor คือพื้นที่ภายในบ้าน ซึ่งการมีเลเยอร์ของ Space แบบนี้ จะทำให้พื้นที่ภายในเย็นมาก เพราะแทบไม่โดนแดดเลย ส่วนหลักการที่จะทำให้ลมเย็นสบาย คือเราต้องทำให้เกิดการไหลเวียนของอากาศ คือเมื่อลมวิ่งผ่านปุ๊บ ก็ให้มีหน้าต่างที่อยู่ตรงข้ามบ้างไม่ตรงข้ามบ้างเพื่อให้ลมไหลผ่าน

 

  • เมื่อเราดูแลธรรมชาติ...ธรรมชาติก็จะดูแลเรา ในแต่ละวัน แสง-แดด-ลม ที่เข้ามาในบ้านเราก็ไม่เหมือนกัน พระอาทิตย์โคจรองศาต่างกันทุกวัน แต่ละฤดูก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งมันจะให้ความรู้สึกว่าบ้านนี้มีเสน่ห์ เงาแดดที่ทอดตัวเข้ามาในบ้าน มันบอกเวลาเราได้ เวลาที่เรานั่งทำงานและได้สัมผัสธรรมชาติอะไรแบบนี้ ผมว่ามันสามารถสร้างแรงบันดาลใจอะไรบางอย่างให้กับคนที่อยู่อาศัย...การได้สัมผัสธรรมชาติ เป็นเหมือนการสร้างพลังชีวิต บ้านเหมือนเป็นที่ชาร์ตแบต เราตื่นมาแล้วหายใจได้เต็มปอด อยู่แล้วรู้สึกมีความสุขผมว่า บ้านต้องเป็นประมาณนี้”  ฉะนั้นจึงควรออกแบบบ้านให้มีความเป็นธรรมชาติเข้ามา คือ ให้คน บ้าน ธรรมชาติได้มีความสัมพันธ์กันเป็นเรื่องเดียวกัน

 

Favorite items

 

Living Inspiration @ SB Design Square

 

ส่วนตัวผมเป็นคนชอบธรรมชาติ และความเป็นธรรมชาติมันจะโชว์สัจจะของวัสดุ ซึ่งมีความงาม มีกาลเวลาอยู่ในนั้นซึ่งสามารถสื่อสารอะไรได้หลายอย่าง แต่ในแง่ก็การตกแต่งบ้านผมก็มองว่าอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ไม้จริงก็ได้ เราสามารถใช้วัสดุทดแทนแต่เป็นวัสดุที่เขาโชว์สัจจะของเขาได้ เช่น Viva Board ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ ผิวคอนกรีต คือเป็นการโชว์

 

 

ส่วนตัวผมเป็นคนชอบธรรมชาติ และความเป็นธรรมชาติมันจะโชว์สัจจะของวัสดุ ซึ่งมีความงาม มีกาลเวลาอยู่ในนั้นซึ่งสามารถสื่อสารอะไรได้หลายอย่าง แต่ในแง่ก็การตกแต่งบ้านผมก็มองว่าอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ไม้จริงก็ได้ เราสามารถใช้วัสดุทดแทนแต่เป็นวัสดุที่เขาโชว์สัจจะของเขาได้ เช่น Viva Board ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ ผิวคอนกรีต คือเป็นการโชว์

 

ต้องการความช่วยเหลือทักแชตเลย

Live Chat With SB Design Squarex