2018 WEEK 25 : เกียรติระบิล เตชะวณิช

2018week25
18 มิถุนายน 2018 11 view(s)
2018 WEEK 25 : เกียรติระบิล เตชะวณิช

ABOUT HIM

เกียรติระบิล เตชะวณิช (โอ๊ค) : ถ้าคุณเคยเห็นหรือได้ยินเกี่ยวกับ KBTG ออฟฟิศสุดเท่ของ KBANK สัปดาห์นี้เราขอชวนคุณมาทำความรู้จักกับสถาปนิกหนุ่มนักคิด ผู้อยู่เบื้องหลัง Creative Workplace ดังกล่าว...Design Director จาก บริษัท PBM บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและก่อสร้างที่ก่อตั้งมานานกว่า 40 ปี

โปรเจคนี้ถือเป็นความภูมิใจและเป็นความสำเร็จในงานอย่างหนึ่ง เพราะเราเป็นบริษัทเล็กๆ เป็นธุรกิจที่เริ่มต้นจากครอบครัว เป็นสถาปนิกกันทั้งบ้าน ไล่มาตั้งแต่คุณพ่อ คุณแม่ซึ่ง เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทฯ (ทุกคนเป็นสถาปนิกสาขาสถาปัตยกรรมหลักกันหมดเลย มีผมคนเดียวเป็นสถาปนิกสาขาสถาปัตยกรรมภายใน) ตอนที่รับงานนั้นเรามีทีมงานแค่ไม่กี่คน แต่มีโอกาสได้รับงานสเกลใหญ่ พื้นที่ส่วนตกแต่งภายในกว่า 40,000 ตร.ม. ความสนุกคือ เราได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมกับการวางผัง วางโปรแกรมการใช้งานพื้นที่ตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้เราได้สเปซที่เราต้องการจริงๆ ซึ่งเราก็ทุ่มพลังกันเต็มที่ ปั้นกันมาทุกรายละเอียด เพราะเราเชื่อว่ามันจะก้าวสำคัญสำหรับบริษัทในอนาคต จนสุดท้ายได้ออกมาเป็นงานที่ตอบรับกับพฤติกรรมการใช้งานของคนที่เข้าไปใช้งานอาคาร และท้ายที่สุดจากโปรเจคนี้ยังทำให้เราได้รางวัลแห่งความภาคภูมิใจถึง 3 รางวัล คือ

Shaw Contract® Design Awards – 2017 GLOBAL WINNER in large office category

Shaw Contract® Design Awards – 2017 MARKET WINNER in large office category

BCI Asia Interior Awards – 2017 WINNER in office category

ตั้งแต่นั้นมางานออกแบบตกแต่งภายในประเภทออฟฟิศหรือสานักงานก็พุ่งเข้ามาหาเราเยอะมาก สัดส่วนประมาณ 70%  นอกนั้นก็จะเป็นงานบ้านพักอาศัย ทาวน์โฮม คอนโด และร้านอาหาร  เวลาเริ่มต้นคิดงานออกแบบ Corporate ผมไม่ได้มานั่งดู Space Planning ว่าควรจะจัดให้เขายังไง แต่ผมจะใช้เวลาในการหาแรงบันดาลใจก่อน ว่าสิ่งที่เขามีอยู่คืออะไร ไปรู้จักเขาและค้นหาข้อมูลเขาก่อน ไปหารากของเขาว่าคืออะไร เสร็จแล้วมาผสมกับแรงบันดาลใจของเรา เพื่อสร้างงานที่มันมีความเป็นเอกลักษณ์สำหรับเขา

ทุกงานของเรามี Story สมมุติมีเวลา 1 เดือน เราจะใช้เวลาสามอาทิตย์ในการระดมสมองกัน เหมือนเราหาเครื่องปรุง พอเรามีทุกส่วนแล้ว เราค่อยคัดเลือกว่าจะใช้ตัวไหนและใช้มันยังไง แล้วเอามาปรุงกันแค่อาทิตย์เดียว เพราะถ้าคุณเริ่มต้นจากการวางผังเลย ก็คงจะได้อะไรเดิมๆ เพราะหาตัวตนของงานไม่เจอ

“ส่วนงานออกแบบตกแต่งประเภทที่อยู่อาศัย...ถ้าคุณคิดว่า คุณจะไม่รื้อไม่ทุบอะไรเลยกับบ้าน ผมว่าคุณไม่ต้องมาหาผมหรอก เพราะผมเป็น “มือระเบิด” ชั้นดี (หัวเราะ) ผมทุบหมดครับ เหตุผลคือ บ้านสำเร็จรูปมันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อคุณ...ผมจะย้ายทุกอย่างที่ควรย้ายบนพื้นฐานที่ผมรู้ว่ามันย้ายได้ ฉะนั้นถ้าแค่อยากแต่งบ้าน ติดวอลเปเปอร์ วางพร๊อพประดับตกแต่งห้อง ชวนผมไปเลือกเฟอร์นิเจอร์เป็นเพื่อนได้ แต่ถ้าจ้างแล้วไม่คิดจะทุบจะรื้อหรือปรับปรุงในแง่ของโครงสร้าง เพื่อให้ได้สเปซใหม่  อย่าจ้าง!! ไม่คุ้ม บอกเลย” นั่นหมายความว่า ผมให้ความสำคัญกับสเปซ ฟังก์ชั่น และ บริบท เพื่อตอบรับกับบุคคลที่จะเป็นผู้ใช้สถานที่เป็นอันดับแรก มาก่อนความสวยงามเสมอ หลายๆงานที่ทำเพื่อหลีกเลี่ยงการรื้อ ทุบ ผมจึงขอไปมีส่วนร่วมในการวางผังตั้งแต่จุดเริ่มต้น ไม่ใช่ปลายทาง ซึ่งถ้าเป็นงานของเรา ที่มีโอกาสได้ออกแบบทั้งสถาปัตยกรรมภายนอก และภายใน จึงถูกคิดมาแบบ Inside out-Outside In

“ผมมองว่าความสวยงามเนี่ยถ้ามันไม่ได้ประกอบไปกับฟังก์ชั่นและวิธีการแก้ปัญหาในบริบทของพื้นที่  มันไม่ใช่ดีไซน์ที่ดีอ่ะ มันแค่การศัลยกรรม สำหรับผมคือการรักษาและปรุงแต่ง มันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เราเป็นนักคิดเพื่อเขา เรามีความเป็นหมอและเป็นเชฟผสมกัน เชฟ คือคนปรุงแต่งให้รูปลักษณ์ กลิ่น เสียงออกมาดูน่าสัมผัส ดูดีน่าอร่อย แล้วต้องทำออกมาให้อร่อยด้วยนะ ไม่ใช่แค่รูปร่างหน้าตาสวย ส่วนความเป็นหมอ คือ เรารักษา เราแก้ปัญหาได้ คือ เรากำลังรักษาบ้านคุณ...ผมเป็นหมอรักษาบ้าน ถ้ารักษาแล้วก็ต้องให้ทำให้คุณได้บ้านที่ดีและเหมาะกับคุณมากกว่าเดิมกลับไป”

“ในการทำงานมันคือการเรียนรู้แล้วก็พัฒนาไปเรื่อยๆ...งานทุกงานมันจะมีข้อผิดพลาดให้เราได้เรียนรู้วิธีแก้ปัญหา หาทางออกที่ลงตัว การเรียนรู้สำหรับผมมันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ผมไม่เคยคิดว่ามีคนที่เก่งที่สุดโดยไม่ต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม ประโยคของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่ว่า Everything should be made as simple as possible, but not simpler คือตอบทุกอย่างของผมเลย คือ ทุกงานออกแบบ ทุกความคิด หรือแม้กระทั่งการดำเนินชีวิต ผมเน้นทำให้มันเรียบง่ายที่สุด...เรียบง่ายแต่ไม่ใช่มักง่ายนะ หรือทำอะไรแบบขอไปที เราต้องคิดทุกรายละเอียด รอบคอบ และลงมือทำ มันถึงได้ออกมาเรียบง่ายและไม่ล้น”

  • เวลาเลือกซื้อ เฟอร์นิเจอร์ ต้องให้ความสำคัญเรื่อง Human Scale เป็นสิ่งที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ยกตัวอย่าง เช่น ไอส์แลนด์หรือเคาน์เตอร์ในครัว  ความสูงควรอยู่ที่ประมาณ 90-95 ซม. แต่ทั่วไปเคาเตอร์บาร์จะสูงประมาณ 105-115 ซม. ดังนั้น การเลือกเก้าอี้สตูล ต้องรอบคอบ ว่าเราใช้สำหรับอะไร  ถ้าสูงไปจะนั่งไม่สบาย เด็กนั่งไม่ได้ ผู้หญิงนั่งขาก็ลอย   เพราะฉนั้น ต้องละเอียด ระดับความสูง 2-3  ซม.นี่ชีวิตเปลี่ยนเลยนะ  โดยเก้าอี้สตูลสำหรับไอร์แลนด์ความสูงที่เหมาะสมคือ 65-67  ซม. เขย่งปุ๊บก็นั่งได้เลย มันจะเข้ากับสรีระ และได้ความสบายที่ผู้ใช้งานจะรู้สึกได้
 
  • การวางตำแหน่งทีวี ถ้าวางตรงผนังทึบแน่นอนว่า  มันดีที่สุด แต่ไม่ใช่ว่าเห็นผนังทึบปุ๊บวางเลย...เราต้องกลับมาดูทิศทางการวางโซฟาด้วย ว่ามันทำให้เราต้องนั่งหันหลังให้แดดหรือเปล่า ถ้าแบบนั้น มันจะมีผลกับเงาสะท้อนกับทีวี ท้ายสุดคุณจะดูทีวีไม่ได้ ดังนั้น เมื่อจะจัดวางเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน อย่าลืมใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ด้วย
 
  • โทนสีที่เหมาะกับบ้าน ผมให้ความสำคัญเรื่องโทนสีมาเป็นลำดับแรกๆเลย คือ ถ้าคุมโทนสี วัสดุภาพรวมได้ งานก็ออกมาสวยแน่นอน ถ้าให้เลือกแต่งบ้าน ผมมองว่าเราเป็นเมืองร้อนควรเลือกโทนสีให้ดูเย็นหน่อย สีโทนร้อนแทรกได้ แต่จะใช้ในเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมากๆ หรือไปใช้ในงานที่เป็นของตกแต่งมากกว่า
 
  • หลายคนอาจชอบจัดบ้านตามหลักฮวงจุ้ย ซึ่งจริงๆ แล้วฮวงจุ้ยเป็นเรื่องของทิศทางลมและแสงแดดเป็นหลัก เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตๆ ที่มีมาแต่โบราณ เช่น ที่บอกว่าไม่ควรวางเตียงนอนอยู่เหนือเตาไฟ จะทำให้เลิกกัน จริงๆ คือเป็นเรื่องของความร้อนและกลิ่นที่อาจจะลอยขึ้นข้างบน ทำให้คนที่นอนไม่มีความสุข สำหรับบ้านแบบโบราณ แต่บ้านสมัยนี้เรามีเทคโนโลยีมากมาย ที่จะมาช่วยจัดการกับปัญหาตรงนี้ หรือห้ามมีหน้าต่างอยู่เหนือเตียงนอน นั่นก็เพราะการมีลมพัดผ่านศีรษะตลอดเวลาจะทำให้คุณไม่สบายผมอยากให้คุณมองฮวงจุ้ยในแง่ของการปรับสมดุลมากกว่าจะมองเป็นเรื่องของศาสตร์ลี้ลับ

ขอบคุณภาพผลงานจาก KASIKORN Business-Technology Group, Mercedes-Benz Thailand Headquarters, DuPont

Favorite items

Favorite Corners in SB Design Square

ชอบมุมนี้ เพราะมันมีความเป็นโมโนโทน มีการจัดความสมดุลระหว่าง สีกลาง พื้นหลังที่ขาว แจกันสีเทา (รวมๆ เป็นโทนเย็น) แล้วสร้าง Contrast ด้วยไม้สีน้ำตาล (สีโทนร้อน) มันให้ความรู้สึกเหมือนการจัดองค์ประกอบภาพในงานกราฟฟิคที่สวยดี

ชอบมุมนี้ เพราะรู้สึกว่ามันเท่ดี ให้ความรู้สึกถึง Loft Space ของศิลปินเมืองนอก ที่เขามักจะใช้พื้นที่โล่งๆ ใต้หลังคาโชว์โครงสร้างแบบนี้ ในการสร้างสรรค์ผลงานและเป็นที่อยู่อาศัยด้วย มุมนี้มีความแข็งกระด้างของคาน ขณะเดียวกันก็มีความนุ่มนวลจากเฟอร์นิเจอร์หุ้มผ้า  มันเป็นความ Contrast ที่อยู่รวมกันได้

ต้องการความช่วยเหลือทักแชตเลย

Live Chat With SB Design Squarex