2019 WEEK 5 "บุตรีญา รวมธรรมรักษ์"

2019week5
29 มกราคม 2019 13 view(s)
2019 WEEK 5 "บุตรีญา รวมธรรมรักษ์"

ABOUT HER

 

สัปดาห์นี้พบกับสถาปนิกสาวนักคิดนักวิจัย คุณนุ้ย - บุตรีญา รวมธรรมรักษ์ผู้ร่วมก่อตั้ง Site-Specific : Architecture & Research บริษัทออกแบบซึ่งเป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับนานาชาติจากผลงาน “บ้านสะเทินน้ำสะเทินบก” (Amphibious Home) บ้านต้นแบบแห่งแรกในเมืองไทย ซึ่งร่วมมือกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการก่อสร้าง การเคหะแห่งชาติ ในการวิจัยและพัฒนาบ้านที่สามารถอยู่อาศัยได้ทั้งยามปกติและในภาวะน้ำท่วม และโปรเจค “บ้านกรองน้ำสำหรับลำคลองในกรุงเทพฯ” (Filter Floating House) ซึ่งได้รางวัล ARCASIA Travel Price 2016  จากสภาสถาปนิกแห่งเอเชีย (ARCASIA) และยังเป็นหนึ่งในบริษัททีมออกแบบและติดตั้ง Thailand Pavilion ในนามของสมาคมสถาปนิกสยามและกระทรวงวัฒนธรรม ที่งานนิทรรศการสถาปัตยกรรมนานาชาติ หรือ Venice Biennale 2018 อีกด้วย

 

ลักษณะการทำงานของเราจะเป็น Research-based ค่ะ สิ่งที่ทำให้ Site-Specific เป็นที่รู้จักหรือถูกพูดถึง น่าจะเป็นเรื่อง Sustainability Design หรืองานออกแบบที่คำนึงถึงระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของธรรมชาติ ซึ่งมีเป้าหมายในการออกแบบที่พยายามจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดค่ะ อย่างช่วงที่น้ำท่วมใหญ่ปี 54 เราก็ลองนั่งคิดเล่นๆ ว่าเราอยากจะออกแบบบ้านที่สามารถอยู่ได้ทั้งในภาวะที่น้ำท่วมและน้ำลด ก็ทำการศึกษาวิจัยแล้วทำบ้านตัวอย่างขึ้นมาสัดส่วน 1:1 ใส่เฟอร์นิเจอร์ แล้วสามารถเข้าไปอยู่จริงได้เลย อยู่ที่จังหวัดอยุธยาค่ะ และจากโปรเจคนี้เราก็ต่อยอดเป็นงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งซึ่งส่งเข้าประกวดและคว้ารางวัลระดับเอเชียมาก็คือ Filter Floating House ค่ะ 

 

จริงๆ ที่ Site-Specific เราก็รับงานหลายอยางนะคะ ทั้งงาน Art Installation  งานออกแบบตกแต่งและรีโนเวทบ้าน ตึกแถว แกลเลอรี่ โรงงาน โรงเรียน รวมทั้งงานในเชิงสังคม คือ เราพยายามสร้างความสมดุลระหว่าง การทำอาชีพเพื่อหารายได้และ การช่วยเหลือสังคมซึ่งเป็นมุมมองที่เริ่มต้นมาจาก คุณชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ ผู้ก่อตั้งบริษัทนี้ ซึ่งมีวิสัยทัศน์ในด้านการออกแบบและอยากช่วยเหลือเพื่อนร่วมสังคมโดยไม่ได้ใช้เงินเป็นตัวนำ แต่คือการนำความรู้ความสามารถที่เราชำนาญ  ช่วยเหลือสังคมและมนุษยชาติผ่านงานออกแบบ ซึ่งนุ้ยว่าก็เป็นสิ่งที่จะทำให้สังคมเราอบอุ่นและน่าอยู่

 

ในแง่ของการออกแบบบ้าน  เรามีความสนใจและศึกษาแนวความคิดทางสถาปัตยกรรมต่างๆ จากทั่วโลก แต่จะมีการนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทแบบไทย  โดยคำนึงถึงทิศทางการวางตัวอาคาร ลม แสง รวมทั้งในแง่ของวัสดุ คือ เน้นวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับลูกค้าด้วยค่ะ โดยครึ่งหนึ่งของลูกค้าของเราเป็นชาวต่างชาติ  ซึ่งเขาก็จะค่อนข้างให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ สมมุติถ้าต้องเลือกระหว่างพื้นไม้กับพื้นกระเบื้องลายไม้  อันนี้ถ้าไม่ได้พูดถึงอารมณ์ที่ได้จากการเลือกใช้วัสดุซึ่งมันให้ต่างกันอยู่แล้ว แต่เราพูดในแง่ของความเป็นวัสดุ ซึ่ง “ไม้” เป็นวัสดุที่สามารถปลูกทดแทนได้ ขณะที่พื้นกระเบื้องต้องเกิดจากการระเบิดภูเขาแล้วไปผ่านกระบวนการที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอีกมากมาย บางโครงการเราพยายามออกแบบอาคารให้ใช้เครื่องปรับอากาศน้อยที่สุด โดยจะออกแบบอาคารแบบ Passive Design คือ ออกแบบให้เหมาะสมกับภูมิอากาศ คำนึงถึงทิศทางการวางอาคารและช่องเปิดต่างๆ ลดการใช้พลังงานที่จะกระทบกับธรรมชาติให้มากที่สุด ซึ่งเทรนด์เรื่องของวัสดุที่มีความยั่งยืน (Sustainability) นี้เป็นสิ่งที่คนเริ่มสนใจและตระหนักมากขึ้นในช่วงสิบปีที่ผ่านมาและจะยังมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต

 

ที่ Site-Specific เรามองว่า การออกแบบไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมหรืองานออกแบบสเกลไหนก็สามารถมีบทบาทในเชิงสังคม และก่อให้เกิดการสร้างสรรค์วิถีชีวิตของผู้คนแบบใหม่ๆ ผ่านงานออกแบบได้ ซึ่งถ้างานออกแบบของเราสามารถสื่อสารกับผู้คนได้ อย่างน้อยแค่ให้เขาได้ฉุกคิดหรือไปคิดต่อ อันนี้เราก็ถือว่าเป็นกำไรแล้วค่ะ

 

  • การจัดสรรพื้นที่เพื่อให้แสงธรรมชาติและอากาศถ่ายเทได้ดี คือ ต้องมีการกำหนดตำแหน่งตัวอาคารให้ถูกต้องตามทิศทางของแดด ลม ฝน ออกแบบให้มีช่องประตู – หน้าต่างที่รับลม และระบายอากาศได้ดี ซึ่งต้องไปสำรวจจากสถานที่จริงและทดลองในทุกครั้งที่ออกแบบ

 

  • หลักการออกแบบ Universal Design ให้ความสำคัญกับระยะต่างๆ ในการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ คือ ถ้าเป็นผู้สูงอายุอาจจะต้องมีอุปกรณ์ช่วยเดินหรือรถเข็น ก็ควรจัดพื้นที่ทางสัญจรให้กว้างเพียงพอไม่ให้เกิดการติดขัด และควรคำนึงถึงระดับของพื้นในอาคาร อุปกรณ์ช่วยพยุงต่างๆ ซึ่งไม่ได้คำนึงถึงเพียงแค่ผู้สูงอายุ แต่รวมไปจนถึงเด็กและทุกคนในบ้านต้องสามารถใช้งานได้ดีด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในทุกวันนี้ ก็มีอุปกรณ์ต่างๆ ที่ช่วยให้ชีวิตทุกคนในบ้านสะดวกและปลอดภัย เช่น ระบบเซ็นเซอร์ต่างๆ

 

  • เราเชื่อมั่นในความเป็นสัจจะวัสดุ  เช่น ไม้ก็จะมีคุณสมบัติเฉพาะตัว ให้ความรู้สึกที่อบอุ่นซึ่งวัสดุอื่นไม่มี หรือกระเบื้องเขาก็จะให้ความแข็งแกร่งและผิวสัมผัสที่แตกต่างออกไป ถ้าให้นุ้ยแนะนำคือ ถ้าคุณชอบไม้ก็ใช้ไม้ หรือถ้าอยากใช้กระเบื้องก็ใช้กระเบื้อง แต่ถ้าจะใช้กระเบื้องลายไม้...นุ้ยก็จะรู้สึกแปลกๆ นิดนึง ไม่ค่อยแนะนำค่ะ คือวัสดุทดแทนมันก็ดีในแง่ประหยัดงบประมาณและ หาง่าย แต่ถ้าในแง่ของสัมผัส มันให้ความรู้สึกที่ต่างกันแน่นอนค่ะ ...อันนี้เป็นความชอบส่วนตัวนะคะ :) ก็แล้วแต่คนชอบด้วย

 

Favorite items

 

Living Inspiration @ SB Design Square

 

ห้องนี้มีความหลากหลายของรูปแบบ คือ มี Mood ของความเป็นผู้หญิงที่วอลเปเปอร์ดูอ่อนหวาน แต่ขณะเดียวกันก็ดูมีความดุดันบาอย่าง มีขนสัตวร์ดู Exotic นิดๆ ซึ่งมันแสดงออกถึงหลายๆ แง่มุมของผู้หญิงได้น่าสนใจดีค่ะ ในส่วนของวอลเปเปอร์ด้านหลัง พื้นที่ค่อนข้างขนาดใหญ่ ก็จะ Impact กับคนที่เห็นและคนที่ใช้งาน  ถ้าเราลองเปลี่ยนไปเป็นวิวภูเขาที่ดู Abstract หน่อยๆ ก็อาจจะช่วยเปลี่ยนอารมณ์ห้องไปได้ คือเป็นอะไรที่เราเล่นสนุกกับห้องนี้ได้

 

 

นุ้ยชอบมุมนี้ในเรื่องการผสมของสีค่ะ คือการใช้สี Earth Tone และมีการเล่นลวดลายเข้ามาบ้าง แล้วก็มีความมันเงาของโลหะเข้ามาผสมทำให้ห้องดูมีชีวิตชีวาขึ้นอีกนิดนึง ไอเดียจากห้องนี้เป็นเรื่องของการผสมผสานวัสดุค่ะ คือเวลาเราเลือกใช้สี ปกตินุ้ยจะเลือกเอิร์ทโทนเป็นหลัก แล้วค่อยใส่ไฮไลท์เป็นจุดๆ ด้วยของตกแต่ง เช่น หมอนหรือผ้าม่าน ให้ห้องดูสดใสขึ้น ไม่เรียบจนเกินไป

 

ต้องการความช่วยเหลือทักแชตเลย

Live Chat With SB Design Squarex