2019 WEEK 49 "พีรภัทร สินธพนำชัย"

2019week49
3 ธันวาคม 2019 5 view(s)
2019 WEEK 49 "พีรภัทร สินธพนำชัย"
ABOUT HIM

 

สัปดาห์นี้ ว่ากันด้วยเรื่องดีไซน์ที่น่าจะถูกอกถูกใจคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองแน่นอน เพราะเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับการออกแบบ Space สำหรับเด็กๆ กับดีไซน์เนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้เป็นพิเศษ...คุณแบงค์  พีรภัทร สินธพนำชัย ผู้ก่อตั้ง Curious Design Studio Interior & Architect

 

“จริงๆ เราก็รับงานหลากหลายประเภทนะครับ แต่ช่วงหลังมานี้ เราทำงานเกี่ยวกับเด็กค่อนข้างเยอะ เป็นประเภท Learning Space เกือบ 10 โปรเจค ซึ่งการจัดสรร Space สำหรับเด็ก เพื่อส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้นั้น จะเป็นไปตามพัฒนาการของแต่ละช่วงวัย โดย Space จะทำหน้าที่เหมือน “เตรียมความพร้อม” ให้เด็กๆ ซึ่งส่วนตัวผมจะสนใจเรื่องพฤติกรรมของมนุษย์ว่า Space ของเราสามารถชี้นำการใช้งานของมนุษย์ได้ยังไง ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปบังคับว่าเขาต้องใช้พื้นที่นั้นยังไง แต่จะคิดว่าพื้นที่ที่เราออกแบบจะสามารถช่วยเตรียมความพร้อมอะไรให้ให้เขาได้บ้าง ซึ่งเด็กแต่ละวัยจะมีการใช้งานไม่เหมือนกัน”

 

สำหรับครอบครัวที่ เด็กวัย 0-2 ขวบ  ส่วนใหญ่เด็กจะอยู่กับเปล ที่นอน และต้องมีช่วงเวลาที่ต้องอยู่ในอ้อมกอดของคุณแม่ค่อนข้างเยอะ ดังนั้น Space ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นฟังก์ชั่นสำหรับจัดความพร้อมให้คุณแม่มากกว่า คือ ต้องมีที่เปลี่ยนผ้าอ้อม ที่ชงนม เวลาลูกตื่นกลางดึกคุณแม่ต้องให้นม (ขณะที่คุณพ่ออาจยังนอนอยู่) ถ้าเปิดไฟก็จะตื่นกันหมด บางทีก็อาจจะต้องใช้เป็นไฟซ่อนไว้ใต้เตียงแค่พอเป็นแสงนำทาง หรืออาจต้องมีอาร์มแชร์สักตัวที่คุณแม่นั่งแล้วรู้สึกสบาย เพราะคุณแม่ที่มีลูกวัยนี้จะเหนื่อยมาก คือจริงๆ จะเป็นพื้นที่สำหรับผู้ใหญ่ไม่ใช่สำหรับเด็ก  ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ลูกค้าส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ เพราะเรายังไม่เคยมีมาตรฐานตรงนี้กัน ส่วนใหญ่งานออกแบบจะถูกตีความไปในเรื่องของพื้นที่หรือดีไซน์สำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งสำหรับผมมองว่าเด็กและผู้สูงอายุ ฟังก์ชั่นจะใกล้เคียงกัน เพราะเป็นกลุ่มคนที่ต้องการการดูแลคล้ายๆ กัน  

 

ลูกค้าบางท่านเป็นครอบครัวที่มีเด็กเล็ก ตัวพ่อแม่อยากได้ห้องแบบโมเดิร์นคลาสสิคมีคิ้วบัว ซึ่งความเป็นจริงคือมันเป็นเรื่องยากมากเลยที่จะไปห้ามธรรมชาติของเด็กๆ ไม่ให้ไปทำอะไรให้เกิดความเลอะเทอะเปรอะเปื้อนกับความเป็นโมเดิร์นคลาสสิคนั้น เช่น บ้านไหนมีเด็ก รับรองว่าผนังบ้านต้องถูกขีดเขียน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเข้มงวดของแต่ละบ้านด้วย บางบ้านเขาจะเตรียมห้องหนึ่งไว้เลย  อนุญาตให้เขียนผนังได้ในห้องนี้เท่านั้น คือถ้าตกลงกันได้มันก็ดี แต่ส่วนใหญ่ Owner จะไม่ได้คิดถึงขั้นนี้ ซึ่งพอเราอธิบายไปแล้วเขาเข้าใจ ห้องเด็กก็จะเป็นพื้นที่ที่ผมอาจไม่ติดวอลเปเปอร์เลยก็ได้ คือให้เขาเขียนไปเลยเต็มที่

 

เมื่อเด็กโตกว่า 2 ขวบ เด็กจะเริ่มคลาน เริ่มพูด บางทีการตกแต่งอะไรบางอย่าง ก็สามารถช่วยเสริมทักษะอะไรบางอย่างของเขาได้ เช่น การตกแต่งด้วยตัวอักษร A B C หรือบางที่แค่การมีกระจกอยู่ในห้อง ก็สร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กได้ ให้เขาได้เห็นหน้าตาของตัวเอง เห็นว่านี่ตา นี่จมูก คือเราต้องเข้าใจเด็กๆ ว่าเขาเกิดมาไม่เคยรู้จักหน้าตาตัวเองมาก่อน ฉะนั้นการมีกระจกก็จะช่วยได้ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับทักษะและการเรียนรู้แต่ละวัยที่เราต้องส่งเสริมเขา ซึ่งพอสัก 3 ขวบ เขาจะเริ่มมีพฤติกรรมของ “การเขียนและการปีนป่าย” ซึ่งพอจับดินสอได้เขาก็จะวาดอะไรมากมายเต็มผนังบ้าน ในห้องเด็ก...เราอาจจะมีเตียง 2 ชั้น ที่ไม่ต้องสูงมาก ส่วนผนังก็แล้วแต่บ้าน จะติดวอลเปเปอร์แล้ววาดบนนั้น ผ่านไป 2-3 ปีก็ลอกออก หรือจะไม่ติดเลยก็ได้  เราก็จะทำคิ้วอยู่ช่วงบน แต่ช่วง 1 เมตรข้างล่าง ก็อาจเป็นกระดานดำ หรือที่ติด Magnet ได้ หรืออาจใช้กระดาษคลุมท้อปโต๊ะให้เด็กได้ขีดเขียนอย่างอิสระ แทนที่การเขียนบนผนัง   

 

และพอถึง 5-6 ขวบ เด็กๆ ก็จะไม่ทำกิจกรรมพวกนั้นแล้ว เพราะเขาจะมีการบ้าน สิ่งที่เขาต้องการคือโต๊ะที่สูงขึ้น ถ้าคิดจะซื้อเตียง 2 ชั้น ก็ควรคิดเผื่อตั้งแต่ต้น โดยเลือกฟังก์ชั่นด้านบนเป็นเตียงแล้วด้านล่างเป็นโต๊ะเขียนหนังสือ อันนี้คือเป็นเรื่องทางกายภาพต่างๆ ที่เราจะสามารถจัดเตรียมไว้ให้เขาได้  แต่เรื่องของวิธีคิดหรือหลักในการสอนอื่นๆ คุณพ่อแม่ต้องทำการบ้านว่าจะเป็นไปในแนวทางไหน

 

งานออกแบบสำหรับเด็ก คนมักเข้าใจว่าไม่จำเป็นต้องแพง แต่จริงๆ แล้วแพงมาก เพราะมันมีดีเทลที่ต้องคำนึงในหลายมิติ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย เช่น ถ้าจะทำผนังเขียนได้หรือ Pin ได้ จะด้วยสก๊อตเทปหรืออะไรก็ตาม ถ้าเป็นผนังทาสีหรือวอลเปเปอร์ เวลาดึงออกมาจะเป็นรอย ต้องเป็นผนังลามิเนตแบบที่เป็นแถบแม่เหล็กหรือเป็นลามิเนตแบบเขียนได้  ซึ่งปัญหาของลามิเนตเวลามันชนกันจะเกิดรอยต่อ ก็ควรจะใช้เป็นไม้จริงต้องมีการลบมุม ดังนั้นความซับซ้อนของงานจึงไม่ได้น้อยไปกว่างานผู้ใหญ่ หรืออย่างการทำสไลด์เดอร์ ข้างใต้บ่อสไลด์ก็ต้องมีทั้งฟองน้ำและวัสดุ Support บางอย่าง ถ้าลงมาตรงๆ ก็จะเร็วและแรง ช่วงปลายอาจจะต้องมีการแอ่นท้องช้างหน่อยเพื่อให้ลดความแรงและการกระแทก ซึ่งต้องไปปรับแก้ไขกันหน้างาน ฉะนั้นงานเหล่านี้เป็นงานที่จำเป็นต้องได้ผู้รับเหมาที่มีความเข้าใจประเด็นเหล่านี้ด้วย   

   

พูดถึงสไลด์เดอร์ ผมเห็นหลายงานทั้งของไทยและต่างประเทศ มักจะทำสไลด์เดอร์ไว้ในบ้าน แต่ถ้าเป็นผม...ผมจะไม่ทำนะ! เพราะมองว่ามันสิ้นเปลืองพื้นที่  สำหรับผม “ฟังก์ชั่นต้องดีก่อน” เป็นอันดับแรก  สองคือมันว้าวไหม? ซึ่งความว้าวก็ต้องมาพร้อมความสวยงาม ซึ่งบางคนอาจตีความคำว่า “ว้าว” ว่าต้องมีกิมมิคอะไรบางอย่าง และอาจเลือกที่จะทำสไลด์เดอร์เพื่อเป็นกิมมิคให้บ้านว้าว แต่ถ้าเป็นผม...ผมจะเอามาชั่งน้ำหนักดูว่าในระยะยาวมันคุ้มไหม เราจะสไลด์กันไป 20 ปีข้างหน้าจริงๆ เหรอ ผมมองว่าถ้ามันเป็น Public Space มันอาจจะโอเคกว่า ซึ่งมันก็จะต้องมาพร้อมกับการซ่อมบำรุง จริงๆ ถ้าบ้านมีสไลด์เดอร์ แค่ 2 ปีแรกก็เบื่อแล้ว และดูแลยากด้วยใครจะปีขึ้นไปเช็ด

 

ดังนั้น ฟังก์ชั่นเกี่ยวกับเด็กที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในบ้าน ก็ต้องมีการคุยกับคุณพ่อคุณก่อนว่า พฤติกรรมที่ลูกจะใช้นั้นเป็นอย่างไร เช่น ถ้าอยากให้ลูกรักการอ่าน เป็นไปได้ไหมที่ในบ้าน โซน Living ที่มีชั้นหนังสือเยอะๆ เราอาจจะมีมุมนึงเป็นซุ้มโค้งเล็กๆ ให้เด็กๆ มุดเข้าไปนั่งได้ แล้วผมก็อาจจะต้องคิดต่อว่า ในอนาคตที่เขาโต พื้นที่ตรงนั้นจะใช้เป็นที่เก็บของได้ไหม ทำหน้าบานปิดได้ไหม “คือมันต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนหรือดัดแปลงไปเป็นอย่างอื่นด้วย เพราะมันก็จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามผู้อยู่อาศัย ฟังก์ชั่นภายในมันต้องถูกเปลี่ยนไปตามช่วงวัย”

 

ตัวอย่างโปรเจค Little Foot Step ซึ่งเป็นโปรเจคสำหรับคนอายุ 1-8 ขวบ ตัวอาคารเป็นบ้านเก่าอายุ 40 ปี ที่จะถูกปรับมาเป็น Learning Space ซึ่งทำให้ต้องมีฟังก์ชั่นของโปรแกรมใหม่ที่ต่างจากของเดิม (ซึ่งเป็นบ้าน) อย่างสิ้นเชิงตัวอาคารเดิมมีทั้งส่วนที่เป็นฝ้าเตี้ยและที่เป็น Double Ceiling สูง 6 เมตร เราก็มาดูว่าฟังก์ชั่นที่ลูกค้าต้องการแต่ละห้องนั้นเหมาะสมกับพื้นที่แบบไหนบ้าง  อย่างช่วงที่เป็นเพดานสูงผมก็เลือกที่จะให้พื้นที่ “ห้องสมุด” ซึ่งห้องสมุดที่จะดูน่าสนใจก็ต้องมีหนังสือเยอะ แต่ความเป็นจริงคือไม่มีใครปีนขึ้นหยิบหนังสือหรอก  เราเลยพยายามลดทอนพื้นที่ในการหยิบหนังสือ โดยทำให้ปริมาณพื้นที่ข้างบนน้อยกว่าข้างล่าง   

 

ซึ่งจากการศึกษาพฤติกรรมและปัญหาของเด็กๆ ก่อนเริ่มงานเราก็พบว่า เดี๋ยวนี้เด็กๆ ไม่มีพฤติกรรมเดอะแก๊งแถวบ้านเหมือนในอดีต แต่มันแปรสภาพไปเป็นการนัดเที่ยวต่างจังหวัดของกลุ่มเพื่อนๆ ในโรงเรียนและกลุ่มผู้ปกครอง คือมันมีเรื่อง Connection ของพ่อแม่ด้วย เลยกลายเป็นว่า พื้นที่ Learning Space จึงต้องเป็นตัวตอบสนองสิ่งที่ขาดหายไป คือ มันต้องมีฟังก์ชั่นที่เด็กๆ สามารถได้ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กใหญ่ได้ ในห้องสมุดเลยต้องมีทางลาด ขั้นบันได สไลด์เดอร์ ให้เขาวิ่งเล่นและเคลื่อนไหว ซึ่งนี่เป็นการตอบโจทย์ทางกายภาพ  ส่วนมิติทางด้านอารมณ์สิ่งที่ผมคิดตอนนั้น คือ ช่วง 1-5 ขวบ เป็นช่วงที่โลกทั้งใบของเด็กคือพ่อแม่ เป็นช่วงที่เขาใกล้ชิดพ่อแม่มาก ดังนั้นจึงควรมีช่วงเวลาจะทำให้ความสัมพันธ์และความอบอุ่นในครอบครัวมีมากขึ้น  ฉะนั้น ในห้องสมุดนั้น พอผมดึงพื้นที่ของของการเก็บหนังสือออกและเลือกที่จะใส่ฟังก์ชั่นของการนั่งอ่านหนังสือเข้าไปแทน แต่แทนที่จะทำขนาดสำหรับเด็ก เราก็ทำให้ใหญ่หน่อย เพื่อให้ผู้ปกครองเข้าไปนั่งด้วยได้  เพื่อให้เกิดภาพของเด็กๆ เข้าไปนั่งตักพ่อแม่แล้วอ่านหนังสือด้วยกัน นั่นคือสิ่งที่เราคาดหวังให้เกิด ซึ่งในความเป็นจริงก็จะมีทั้งคนที่ทำและไม่ทำ ผู้ใหญ่บางคนก็อาจจะแค่เข้ามาถ่ายเซลฟี่แล้วออกไป แต่ทั้งนี้ ในงานออกแบบของผม ผมมักจะใส่อะไรพวกนี้เข้าไปเสมอ (โดยที่เราก็รู้ว่าไม่สามารถบังคับพฤติกรรมของ User ได้  100%) 

 

จากประสบการณ์ทำงานเกี่ยวกับเด็กๆ ก็ทำให้ผมได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไปด้วย ซึ่งพอพื้นที่เปิดใช้งานจริงๆ แม้มันจะเป็นห้องสมุด แต่เด็กก็ไม่ได้อ่านนั่งหนังสือกันเงียบๆ คือจะมีเด็กกลุ่มหนึ่งวิ่งเล่น กรี๊ด ปาหมอน วาดรูป เล่น Pin เล่น Magnet ในขณะที่อีกกลุ่มก็ตั้งใจอ่านหนังสือ ทำให้เรารู้สึกว่า จริงๆ แล้วเด็กเขาสามารถสร้างสมาธิของเขาได้ อยู่ที่ว่าเขาสนใจอะไร  มันเป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจมากสำหรับผม  คือ ในพื้นที่เดียวเราจะเห็นเลยว่าพฤติกรรมมนุษย์นั้นมีหลากหลาย ซึ่งมันก็จะเป็นไปตามที่เขาเลือก สิ่งที่เราทำได้สำหรับงานออกแบบคือ ต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่า Space นี้ ควรต้องมีฟังก์ชั่นอะไรบ้าง แล้วผู้ใช้เขาจะเลือกเองว่าเขาจะใช้มันอย่างไร 

 

  • Leaning Space สำหรับเด็ก แต่ละที่จะมีหลักสูตรหรือจุดเน้นที่แตกต่างกัน บางหลักสูตรเน้นเรื่องทักษะในดำรงชีวิต (ของเด็กๆ) คือ สอนให้รู้หน้าที่ว่าต้องทำอะไร เช่น น้ำหกต้องเช็ด ไปหยิบผ้าที่ไหน เช็ดเสร็จเก็บผ้าที่ไหน และทุกครั้งที่เด็กทำผิด คุณครูจะมองว่าเป็นโอกาสของการเรียนรู้ หรือบางมีกิจกรรมที่ดูเหมือนเรื่องเล่นๆ เช่น ให้เด็กคีบถั่ว ซึ่งจริงๆ มันก็คือการฝึกการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กการใช้นิ้ว ใช้ที่คีบ และมีเรื่องการนับจำนวนซึ่งก็คือ เรื่องของคณิตศาสตร์สอดแทรกเข้าไปด้วย ซึ่งคนที่ส่งลูกเรียนโรงเรียนแบบนี้ เวลาที่เด็กกลับไปบ้าน คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องส่งเสริมให้ลูกได้เรียนรู้ขณะอยู่ที่บ้านด้วย เพื่อให้เด็กเข้าใจทั้งหมด ไม่ใช่ว่ากลับบ้านแล้วเด็กไม่ต้องทำอะไรเลย

 

Favorite items

 

Living Inspiration @ SB Design Square

 

มุมนี้มีทั้งส่วนของห้องนอนและห้องนั่งเล่นอยู่ด้วยกัน มีโต๊ะสำหรับเด็กๆ  เป็นพื้นที่ที่ใช้ร่วมกันได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อันนี้อาจจะเป็น Solutions นึงที่ปรับได้ฟังก์ชั่นให้ผู้ใหญ่มาใช้ร่วมกับเด็กได้ คือ เราต้องยอมรับก่อนว่าฟังก์ชั่นแบบนี้โอเคไหม ตรงนี้อาจมีทีวีให้นั่งดูด้วยกัน  เด็กๆ นั่งเล่นอยู่ข้างหน้าโซฟา และจะได้อยู่ในสายตาหรืออยู่ใกล้ๆ คุณพ่อคุณแม่ตลอด

 

 

ส่วนมุมนี้ ชอบเพราะว่ามันแสดงถึงวิธีเก็บอุปกรณ์หลายๆ อย่าง ที่ต้องใช้งานในชีวิตจริงๆ ได้ครบทุกอย่างที่ต้องมี

 

ต้องการความช่วยเหลือทักแชตเลย

Live Chat With SB Design Squarex