2019 WEEK 40 "กศินร์ ศรศรี"

2019week40
1 ตุลาคม 2019 4 view(s)
2019 WEEK 40 "กศินร์ ศรศรี"

ABOUT HIM

 

มากกว่า “ความสวย” ที่มองเห็นได้ทางตา คือ “ความรู้สึก” ที่รับรู้ได้ทางใจ...สัปดาห์นี้ชวนมาสัมผัสกับคุณค่าของงานสถาปัตยกรรมที่ถูกถ่ายทอดผ่านผลงานออกแบบที่เต็มไปด้วย “ความมีชีวิต” ของ คุณกึ๋น - กศินร์ ศรศรี แห่ง Volume Matrix Studio....สถาปนิกผู้ออกแบบ “บ้าน” จากความรู้สึก

 

“เวลาออกแบบบ้านสักหลัง สิ่งที่ผมให้ความสำคัญที่สุดคือเรื่องของ ความรู้สึก ครับ ผมว่ามันมาก่อนเรื่องรูปทรงและฟังก์ชั่นซะอีกนะ ผมจะคิดว่า อยากให้พื้นที่นี้รู้สึกอย่างไร แล้วจึงค่อยไปจัดการเรื่องการใช้สอย ฟังก์ชั่น หรือค่อยๆ เลือกวัสดุต่างๆ ให้ตอบโจทย์ความรู้สึกที่เราพยายามจะออกแบบไว้ตั้งแต่ต้น เพราะ “ความรู้สึก” เป็นสิ่งที่มนุษย์สัมผัสได้ง่าย และบางครั้งมันก็เป็นตัวบอกว่าพื้นที่นี้ดีหรือไม่ดี”

 

โดยผมจะเริ่มคุยกับลูกค้าก่อนว่าเขามีไลฟ์สไตล์ยังไง ชอบหรือไม่ชอบอะไร เพราะคนเราต่างพื้นเพต่างที่มาย่อมมีความรู้สึกต่อสภาพแวดล้อมหนึ่งๆ ไม่เหมือนกัน ซึ่งพอเราเข้าใจเขา เราก็จะเริ่มคุยถึง “ความรู้สึก” ที่เขาอยากให้เกิดขึ้นในบ้าน เช่น จะอบอุ่น จะทันสมัย หรือจะให้สนุก  คือเราต้อง “หาความรู้สึกของบ้าน” ก่อน แล้วค่อยมาต่อเรื่องวัสดุและการจัดพื้นที่ที่มันเอื้อต่อความรู้สึกนั้น  ส่วนเรื่อง Form กับ Mass ผมว่ามันเกิดขึ้นทีหลังครับ คือถ้าเราไปยึดติดกับรูปร่างหน้าตาของบ้านก่อน “อาคารมันจะไร้ชีวิต” เหมือนสัตว์สตาฟที่มีแต่รูปทรงแต่ไม่มีชีวิต เราเลยอยาก “หาหัวใจ” ของมันก่อน ซึ่งก็คือความรู้สึกนี่แหละ พอได้สิ่งนี้แล้ว ทีนี้ไม่ว่าเราจะสร้างอะไร รูปร่างหน้าตาแบบไหนมันก็จะเป็นสถาปัตยกรรมที่มีชีวิตครับ

 

ผมมองว่า สถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์มากๆ เพราะเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องไปใช้ชีวิตในนั้น ฉะนั้น “สถาปัตยกรรมที่ดี” จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนดีขึ้น  ในฐานะนักออกแบบ ผมมองว่ามันเป็นความรับผิดชอบ ทั้งในเชิงบุคคลและสังคม ที่เราจะเข้าไปสร้างความเป็นอยู่ของมนุษย์ให้ดีขึ้นได้ยังไง ไม่ได้ดีขึ้นแค่ในแง่รูปธรรมอย่างเดียว แต่รวมถึงในแง่นามธรรมด้วยคือ “คนที่อยู่ต้องมีอิสรภาพ” มนุษย์ทุกคนต้องการอิสรภาพที่จะใช้ชีวิต ดังนั้น งานสถาปัตยกรรมของผมเลยเน้นที่จะเปิดโอกาสให้คนได้เลือก ได้ใช้ชีวิตในแบบของเขาเอง  คล้ายกับว่าเราถ่ายทอดชีวิตเขาผ่านงานสถาปัตยกรรมออกมา โดยเราเป็นคนช่วยไกด์แนวทาง เป็นที่ปรึกษาเขา ทำให้เข้าได้ค้นพบตัวเอง

 

เหมือนเราปล่อยพื้นที่ให้เจ้าของบ้านสนุกกับการใช้ชีวิตของเขา  เราจะไม่ไปกำหนดว่าคุณต้องวางแจกันตรงนี้ ต้องวางโคมไฟแบบนี้เท่านั้น คือเขาสามารถไปเดินหาซื้อเฟอร์นิเจอร์ที่ไหนก็ได้ แล้วเอามาแมตช์กัน คล้ายๆ ชีวิตคนในสังคมนั่นแหละครับ ที่มีคนหลากหลาย เรายังอยู่กันได้เลย ก็เหมือนเฟอร์นิเจอร์ที่อาจมาจากต่างที่ ต่างยุคสมัย ต่างดีไซน์เนอร์ แต่ผมเชื่อว่ามันอยู่ร่วมกันได้  ไม่ต้องกลัวว่ามิกซ์แล้วจะไม่แมตช์ คือผมมองว่า การมีอิสระในการเลือกมันย่อมดีกว่า ไม่ต้องไปยึดว่า “เดี๋ยวมันจะไม่สวย”  ผมมองว่าความสวยงามนั้นมีอยู่ในทุกสิ่ง ทุกอย่างมันก็สวยในแบบที่มันเป็น  ในฐานะนักออกแบบผมมองว่าเราควรต้องปล่อยช่องว่างบ้าง เพื่อให้เจ้าของบ้านเขาได้เลือกสิ่งที่เขาชอบ ผมจะไกด์สัก 70-80% เช่น โทนสีน่าจะประมาณไหน แล้วไปช่วยตัดสินใจเลือก แต่บางอย่างก็จะบอกว่าเลือกอะไรก็ได้แล้วแต่ชอบเลย  อย่างการจะเลือกเก้าอี้สักตัว ความสบายในการนั่งเก้าอี้ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าในบ้านมี 5 คน เก้าอี้แต่ละตัวก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เพราะแต่ละคนชอบแข็ง ชอบนิ่มต่างกัน แต่เราสามารถนั่งด้วยกันได้  โดยที่แต่ละคนก็ได้เก้าอี้ที่ตัวเองชอบอยู่ในบ้านหลังนี้ คือไม่จำเป็นว่าต้องเอาเก้าอี้ไม้หมดถึงจะสวย ผมมองว่า “ความสวยงามมันเหนือกว่านั้น”  ความสวยงามจริงๆ คือความสวยงามในการใช้ชีวิต และในการที่มีสิทธิ์เลือก 

 

ส่วนใหญ่งานผมจะเป็นการออกแบบพื้นที่ที่ไม่ตายตัว แต่เราจะไกด์ไว้คร่าวๆ เช่น จะมีพื้นที่นึงเรียกว่า Common Area เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้บอกว่า เป็นห้องนั่งเล่นหรือห้อง Family room เพราะไลฟ์สไตล์ของคนปัจจุบันเปลี่ยนไปเยอะแล้ว แต่ก่อนเราต้องมีห้องนั่งเล่น ที่มีโซฟาไว้นั่งเล่น แต่สมัยนี้คือนั่งที่ไหนก็ได้ที่รู้สึกสบาย นั่นแหละห้องนั่งเล่นของเรา ซึ่งอาจจะใช้เป็นที่กินข้าวได้ด้วย อาจมีแพนทรีที่พ่อแม่ทำครัวด้วยกัน แล้วลูกนั่งเล่นอยู่ก็ได้  อย่างบางคนคนติดทีวีใน Walk-in closet เพราะเขาใช้เวลานานในห้องแต่งตัว หรือบางคนห้องน้ำกับห้องแต่งตัวกลายเป็นห้องเดียวกันแล้ว  คือถ้าเราแยกพื้นที่ว่า ห้องน้ำเป็นห้องน้ำ พื้นที่จะแคบมาเลย จะเป็นห้องสี่เหลี่ยมที่มีไว้ทำกิจกรรมอย่างเดียว พอมันเป็นห้องที่ทำอะไรก็ได้ เขาก็ใช้เวลาได้นานขึ้น

 

ในเรื่องการเลือกใช้วัสดุ ผมเน้นการใช้ “สัจจะวัสดุ” เพราะมองว่าของเหล่านี้เป็นอย่างที่มันเป็น มีความคลาสสิคที่เราไม่ได้ไปเปลี่ยนรูปแบบ  ปูนก็สวยแบบปูน ไม้ก็สวยแบบไม้ คือเราแค่ออกแบบให้วัสดุเหล่านี้แสดงตัวตนของมันออกมาอย่างเต็มที่ หรือทำให้ศักยภาพมันเพิ่มขึ้น เหมือนถ้าเรามีก้อนหินอยู่ก้อนนึง  ถ้าปล่อยให้อยู่ตามพื้นก็ดูเกะกะ แต่ถ้าเอามาจัดวางหรือใส่เฟรมให้หน่อย หินก้อนนั้นก็จะดูมีคุณค่ามากขึ้น งานสถาปัตยกรรมของผม สร้างขึ้นเพื่อที่จะทำให้ชีวิตของคนที่อยู่มีคุณค่ามากขึ้น ด้วย “การเลือกจัดวาง” สิ่งต่างๆ ให้เหมาะสมกับชีวิตเขา  

 

อีกสิ่งที่ผมให้ความสำคัญ คือ บริบทของสถานที่ ผมชอบใช้คำว่า มันมี “บรรยากาศอยู่ในอากาศ” และบรรยากาศแต่ละซีกโลกก็ไม่เหมือนกัน ของไทยจะมีความชื้น ฉะนั้นสีของบ้านที่สวยในเมืองไทย กับสีที่สวยในต่างประเทศอาจจะต่างกัน ถ้าเป็นญี่ปุ่นฟ้าเขาเคลียร์มากเป็นสีฟ้าเลย พอทำบ้านสีขาวไปตัด มันก็จะสวยมาก แต่ถ้าเป็นเมืองไทย ฟ้าเราขมุกขมัวมาก “บ้านของเรา” จึงเหมาะกับสีไม้ คือมันแปรไปตามบรรยากาศของสถานที่นั้นๆ  ผมเชื่อว่าบ้านที่ดีควรต้องกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม  อย่างเมืองไทยเมืองร้อน สภาพอากาศแบบนี้ต้องมีการระบายที่ดี ต้องมีแสงสว่างที่เหมาะสม

 

บ้านส่วนใหญ่ที่ผมออกแบบจึงมีลักษณะของ “ใต้ถุน” เพราะจากที่เล่าว่า บ้านเรามีความชื้น คือ มีไอชื้นจากดิน ซึ่งปกติจะขึ้นมาที่ระดับ 1.2 -1.5 เมตร ฉะนั้นถ้าเราปลูกบ้านติดดิน สักพักสีจะลอก เพราะความชื้นจากดินจะซึมผ่านผนังขึ้นมา แต่ถ้ายกพื้นขึ้น จะทำให้อากาศข้างล่างถ่ายเทได้ ช่วยเรื่องปลวกด้วย บางคนบอกว่าบ้านปูพื้นไม้แล้วมีปลวก ก็เพราะว่าปลวกมันมาจากดิน เขาอยู่ในที่มืดและชื้น ถ้าเราทำพื้นที่ให้เป็นสภาวะที่เขาไม่ชอบ เขาก็ไม่มา สมมุติเราทำใต้ถุนที่ค่อนข้างโล่ง  อากาศถ่ายเทได้และมีความสว่าง ปลวกก็ไม่ขึ้นแล้ว อีกอย่าง การยกขึ้นยังทำให้เราสามารถที่จะซ่อนแอร์และงานระบบต่างๆ ไว้ข้างใต้ได้ด้วย แทนที่จะไปติดแอร์เกาะอยู่ข้างนอก (ที่จะทำให้ดูไม่สวยงาม) ซึ่งพอพื้นที่ข้างใต้ มีการเป่าลม มีเสียง มีการระบายอากาศ สัตว์ต่างๆ ก็จะไม่มาอยู่ คือเราอยู่กับธรรมชาติ เราควรต้องเข้าใจเขาเป็นอย่างไร และเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร โดยที่เราก็สามารถหาประโยชน์จากการที่อยู่ร่วมกัน

 

ผมโตมากับบ้านสวนอยู่เรือนไทยมาตั้งแต่เด็ก ผมชอบลักษณะของบ้านไทยสมัยก่อน ผมว่าพื้นที่ “ใต้ถุน” ก็คือ Common Area เพราะมันไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นพื้นที่ไว้ใช้ทำอะไร มันเป็นได้ทุกห้อง ยกครกมานั่งตำก็เป็นครัว เวลาจัดเลี้ยงก็กลายเป็นพื้นที่ทานข้าว บางทีก็เป็นพื้นที่ให้ลูกวิ่งเล่น...เรียกว่าเป็นพื้นที่ที่คุ้มค่ามากๆ เพราะปรับเปลี่ยนได้หลายฟังก์ชั่น  ผมว่ามันทำให้ชีวิตมีอิสระที่เราจะคิดว่าเราจะทำอะไร  บางคนชอบไปกำหนดว่าห้องนี้ต้องใช้ทำอย่างนี้  แต่ผมชอบ “ปล่อยให้พื้นที่มีความเบลอๆ” นิดนึง  เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยได้เติมอะไรบางอย่างลงไป อันนี้มันเป็นความสุขพื้นฐานเลย คือมนุษย์ต้องเลือกได้ ต้องมีทางเลือก

 

นอกจากนี้ งานออกแบบของผมจะมีหลังคาที่ใหญ่มากๆ เป็นการใช้ “จิตวิญญาณของบ้านไทย” มาปรับให้โมเดิร์นขึ้น โดยการเลือกใช้วัสดุที่ทันสมัยและเหมาะกับวิธีชีวิตปัจจุบัน  เมืองไทยสภาพอากาศร้อน ถ้าเราทำบ้านกล่อง โดยไม่มี Double Roof หรือมีหลังคาอีกชั้น บ้านก็จะร้อนมาก ซึ่งผมใช้วิธีที่เรียบง่ายมากๆ คือเรามีหลังคา Slab ชั้นหนึ่ง แล้วก็มีหลังคาอีกชั้นหนึ่งเพื่อที่แดดลงหลังคาแล้ว กว่าที่จะซึมลงมาอีกชั้นมันจะไปเจอ Gap อากาศ ซึ่งจะทำให้อากาศถ่ายเท และช่วยลดความร้อนให้หลังคา รวมถึงยังช่วยสร้าง Shading ได้ไกลขึ้น สามารถกันฝนจะสาดเข้าอาคารได้มากขึ้น

 

ผมชอบตั้งชื่อโปรเจคว่า Sala เพราะผมชอบความเป็นศาลา เพราะมันมีลักษณะของความอเนกประสงค์ ใช้ทำอะไรก็ได้ อย่างโปรเจค Sala Zen ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา ผมตั้งชื่อนี้เพราะความหมายจากการใช้สัจจุวัสดุ และความถ่อมตนของตัวสถาปัตยกรรม คือปกติถ้าคนมีบ้านริมน้ำก็มักจะสร้างให้อยู่ติดน้ำเลย เพื่อโชว์ให้คนอื่นเห็นว่าฉันมีบ้านอยู่ริมน้ำนะ แต่โปรเจคนี้ผมคุยกับเจ้าของบ้านว่า ที่ริมน้ำก็มีต้นไม้เดิมอายุเป็นร้อยปีอยู่มากมาย ถ้าจะสร้างริมน้ำเราก็ต้องตัดต้นไม้เหล่านั้น แต่ผมมองว่าเราควรเคารพธรรมชาติตรงนี้ ด้วยการถอยร่นตัวบ้านเข้ามาดีกว่า แล้วเก็บต้นไม้เหล่านั้นไว้ การที่เราจะได้วิวแม่ ไม่จำเป็นว่าเราต้องอยู่ชิดเพื่อมองเห็นแม่น้ำชัดๆ แต่การที่เรามีต้นไม้เป็น Foreground แล้วเวลาที่มองออกไป เราก็จะได้ชื่นชมแม่น้ำโดยมองผ่านต้นไม้ที่อายุเป็นร้อยปีเหล่านั้น...ผมว่าแบบนี้มีเสน่ห์กว่า โดยเราทำบ้านให้มีมุมมองของต้นไม้ที่แตกต่างกันในแต่ละชั้น คือ ชั้น 1 บ้านเป็นใต้ถุน ก็มองผ่านโคนต้น ชั้น 2 มองผ่านลำต้น ชั้น 3 ก็มองเห็นแม่น้ำผ่านยอดไม้  นอกจากนี้ ผมยังทำตัวโครงสร้างให้ยื่นออกไปเหมือนกิ่งไม้ เพราะเราอยากให้นกมาทำรัง...ผมมองว่า มันเจ๋งดีนะ ถ้าตื่นมาแล้วเราได้ยินเสียงนกมากกว่าเสียงทีวี แบบนี้สร้างความ Privilege กว่าเยอะ

 

บ้านที่ดี คือ บ้านที่สะท้อนความรู้สึกของเจ้าของ สะท้อนตัวตนของบ้านออกมา ผมมองว่าสถาปนิกมันไม่ควรทำตัวเป็นเจ้าจองบ้าน 100% เราเป็นเหมือนผู้ส่งสาร โดยใช้ประสบการณ์ ความรู้ และทักษะของเรามาสร้างความงามต่างๆ เพื่อถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในใจของคนให้ออกมาเป็นรูปธรรม  ถ้าอันไหนสื่อออกมาได้มาก อันนั้นถือว่าประสบความสำเร็จ

 

  • ทิศตะวันตกและทิศใต้จะร้อน แทนที่เราจะเอาห้องที่เปิดหน้าต่างไปไว้ทางด้านนั้น เราก็ควรเอาพวกห้องน้ำ ห้องแต่งตัวที่มีเสื้อผ้าเยอะ หรือส่วนตากผ้าไปไว้ตรงนั้น เพื่อให้โดนแดด ให้แดดฆ่าเชื้อให้เรา คือเหมือนกับว่าเราควรเลือกใช้ข้อดีของธรรมชาติที่เรามีให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของเรา โดยออกแบบบ้านให้สอดรับกับสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และบริบทของพื้นที่...เพราะถ้าเราสู้กับธรรมชาติ เราไม่ชนะหรอก ฉะนั้น เราจะอยู่ร่วมกับเขาอย่างฉลาดได้อย่างไร แค่นั้นเอง  

 

  • ความเป็น Loft ไม่ใช่แค่รูปทรง ไม่ใช่แค่ขัดมัน ไม่ใช่แค่งานระบบโชว์เดินท่อเปลือย แต่มันคือ “วิถีชีวิต” คือ คุณต้องเป็นคนที่มีความสนุกในการใช้ชีวิต และต้องการใช้พ้นที่ที่ปรับเปลี่ยนง่าย เพราะ Loft ไม่ใช่บิลท์อิน แต่เป็นสไตล์ที่สามารถให้เรา DIY เฟอร์นิเจอร์หรืออะไรต่างๆ ได้ ...พื้นที่แบบลอฟต์คือการที่เราเปลือยเปล่าการตกแต่งใดๆ ฉะนั้น สิ่งของที่จะมาวางในนั้น มันจะสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีสไตล์ไหนเป็นตัวบังคับ เช่น คุณอาจจะเอาเก้าอี้ยุควิคตอเรี่ยนมาผสมกับเก้าอี้เหล็กก็ยังได้ เพราะLoft คือความสนุกในการใช้พื้นที่ เมื่อไหร่เราเบื่อเราก็เปลี่ยนได้ เมื่อบ้านมีความหมุนเวียน ก็จะทำให้ชีวิตมีสีสันขึ้น มีความสุขในการใช้ชีวิตมากขึ้น

 

Favorite items

 

Living Inspiration @ SB Design Square

 

ผมชอบมุมนี้ เพราะมันให้ความรู้สึกผสมระหว่างความดิบและความอบอุ่น เหมือนบ้านที่ผมออกแบบ...หลักๆ จะเป็นคอนกรีตขัดมัน ที่จะให้ความรู้สึกเย็นๆ ซึ่งถ้าเรามีไม้หรือหนังเข้าไปประกอบก็จะทำให้โอเคขึ้น จากผนังขัดมันที่ดูเยือกเย็นก็จะดูมีชีวิตชีวามากขึ้น และยิ่งมีการใช้ “ไม้เก่า” เข้ามาตกแต่งด้วย ยิ่งทำให้รู้สึกถึงความ “ผ่านกาลเวลา” หรืออย่างหนังเก่าที่ผ่านการใช้งานมาก็จะมีสภาพที่แปรเปลี่ยนไป เกิดรอยยับย่นเฉพาะตัวขึ้นมา

 

 

ส่วนห้องนี้ ชอบตรงกรอบของเตียงที่เป็นทองแดง ซึ่งผมมองว่า “ทองแดงหรือทองเหลือง” เป็เสน่ห์ของเอเชียที่ทำได้ดีกว่ายุโรปเยอะมาก ซึ่งผมมองว่ามันน่าจะเป็นเทรนด์ของอนาคต คือการใช้ Finishing ที่เป็นขอบโลหะในลักษณะนี้ มันเหมือนกับว่าเราใช้สิ่งที่เราเก่งในอดีตมาผสานกับวัสดุและความเป็นอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ดูสอดรับกับความเป็นโมเดิร์นได้มากขึ้น

 

ต้องการความช่วยเหลือทักแชตเลย

Live Chat With SB Design Squarex