2019 WEEK 36 "เผดิมเกียรติ สุขกันต์"

2019week36
3 กันยายน 2019 8 view(s)
2019 WEEK 36 "เผดิมเกียรติ สุขกันต์"

ABOUT HIM

 

เพราะเต็มเปี่ยมไปด้วย  DNA ความซน ความขี้สงสัย ช่างคิดและช่างทดลอง!! จึงก่อเกิดเป็นผลลัพธ์หลากมิติดีไซน์ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น ศาลา ลานนา เชียงใหม่ บูทีคโฮเทลสุดเก๋ริมแม่น้ำปิง, ร้านสตาร์บัคสาขานิคมมินิแฟคทอรี่ ฟาสท์แฟควังน้อย หนึ่งในสาขาที่สวยที่สุดในไทย, โอ้กะจู๋ สาขาสยามสแควร์ ร้านอาหารดังที่ปังทั้งเรื่องอาหารและงานตกแต่ง, อารมณ์ออร์คิด แม่ริม เชียงใหม่ ร้านอาหารในสวนกล้วยไม้ที่สวยสะดุดตาด้วยสถาปัตยกรรมจากวัสดุและฝีมือช่างพื้นถิ่น, บ้านพุงกลม บ้านสีขาวรูปทรงเกลี้ยงเกลาที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร สัปดาห์นี้ ชวนมาทำความรู้จักกับ คุณเติ้ล - เผดิมเกียรติ สุขกันต์ แห่ง Studiomiti

 

“ส่วนใหญ่ในทุกโปรเจคของเรา...ถ้าเป็นไปได้ เราจะมีการทดลองอะไรบางอย่าง ซึ่งบางทีมันอยู่ในจินตนาการและสมมุติฐานของเราว่า “มันน่าจะเป็นไปได้” และเมื่อเสร็จก็น่าจะทำให้ได้ผลลัพธ์ใหม่ เพราะ “พวกผมเป็นเด็กซน” เราชอบคิดและหาเรื่องทำไปเรื่อยๆ พอได้ผลลัพธ์ก็นำมาพัฒนาต่อ  แต่เราจะทดลองทำที่ออฟฟิศของเราก่อนนะ ไม่ได้ไปทำที่บ้านลูกค้า  เพราะถ้ามันเกิดข้อบกพร่อง คนอื่นจะได้ไม่ด่าเรา! เราจะได้ด่าตัวเอง! (หัวเราะ)  ตอนนี้เลยทำให้ที่ Studiomiti มีประติมากรรมหรืออะไรต่ออะไรที่เราทดลองเยอะไปหมด! (หัวเราะ)...ทดลองแล้วไม่เวิร์คก็มี  ซึ่งมันดีนะ! ผมว่าเราก็ยอมรับความผิดพลาดและได้เรียนรู้จากความผิดพลาดทุกวัน   ขณะเดียวกันก็ส่วนที่ทดลองแล้วเวิร์ค ก็จะถูกนำไปใช้ซ้ำ ในโปรเจคต่างๆ รวมถึงพัฒนาต่อยอดด้วยครับ”

เช่น หลังคาเหล็ก ตอนนั้นผมกับคุณบั๊ม (คุณประกิจ กัณหา เพื่อนที่ร่วมก่อตั้งบริษัทมาด้วยกัน) เชื่อว่า เรืออยู่ในน้ำและลอยได้โดยน้ำไม่เข้า ซึ่งก็แปลว่า เหล็กต้องทำเป็นหลังคาได้! ผมเลยทดลองทำกับออฟฟิศของเราเองก่อน สิ่งที่ค้นพบ...หลังคาเหล็กมีข้อดี คือ เหนียว นั่งได้ คายความร้อนเร็ว...ตอนเย็นเราก็ไปนั่งเล่นได้ และถ้าติดตั้งตามวิธีที่เราเข้าใจ  มันจะไม่มีรอยต่อ เราก็เอาหลังคาเหล็กตัวนี้ไปใช้ต่อที่ “บ้านสวนจันทิตา”  ซึ่งเป็นบ้านไม้อยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ เวลาลมแรงๆ กิ่งไม้ตกลงมาหลังคาไม่แตก เพราะเหล็กมีความเหนียวและแกร่ง แต่ข้อเสียคือ การเกิดสนิม เพราะบ้านเราร้อนชื้น เพื่อนผมก็คิดพัฒนาขึ้นมาใหม่เป็น “สังกะสีพับ” เป็นชิ้นๆ ต่อกัน ทำให้น้ำหนักเบาเหมือนเดิม แล้วก็นำไปใช้ต่อในหลายโปรเจค

หรืออย่าง โฟม EPS ที่เราอาจไม่ใช่เจ้าแรกที่ใช้วัสดุนี้แน่ๆ ล่ะ แต่เราแค่ลองคิดและทดลองนำวัสดุนี้มาใช้ในอีกรูปแบบหนึ่ง คือตอนนั้นเราคิดถึงตู้เย็นที่ข้างนอกเป็นเหล็กแต่ทำไมมันเย็นได้ แปลว่าข้างในมันต้องมีอะไร ก็พบว่า อ๋อ...เขาฉีดโฟมเข้าไปในช่องระหว่างเหล็กและเราก็ไปเจอว่ามันมีโฟมแบบแผ่นด้วย เลยเอามาลองใช้ทำหลังคา “บ้านพุงกลม” เพื่อกันความร้อนให้กับบ้าน และเราก็ ดีไซน์ให้โครงหลังคากับผนังบ้านเรียบเนียนเป็นชิ้นเดียวกัน ทำให้อีกผลลัพท์หนึ่ง 

อีกตัวอย่าง เช่น อิฐ ซึ่งเกิดจากการที่พวกเราไปเที่ยวพม่า ไปเห็นเจดีย์ธรรมยังจีแล้วเกิดแรงบันดาลใจ เพราะอิฐเขาเรียบจนน้ำเข้าไม่ได้เลยและอยู่มาเป็นพันปีแล้ว เราเลยมาทดลองสร้างออฟฟิศของตัวเอง ใช้โครงสร้างเป็นอิฐนี่แหละ โดยเลือกที่จะใช้ “อิฐเผาด้วยแกลบ” เพราะจะได้ Texture ที่ต่างจากการเผาฟืนหรือแก๊ส แต่ปรากฏว่าได้อิฐโก่ง เพราะมันโดนความร้อนในเตาไม่เท่ากัน ซึ่งถ้านำมาก่อก็ต้องมีปูนยาแนวซึ่งไม่สวยและไม่ใช่ Mood ที่เราชอบ พวกผมเลยผลิตเครื่องขัดอิฐขึ้นมา และได้รับคำแนะนำจากช่างให้ลองนำใบตัดเหล็กมาประยุกต์ใช้ ตอนแรกนึกว่าอิฐจะแตก แต่ปรากฏว่ามันเวิร์ค กลายเป็นว่าเราได้อิฐที่ค่อนข้างเรียบ...ซึ่งนี่ก็เป็นอีกเรื่องที่ผมสนใจคือ ผมชอบงานช่าง ชอบฟังคำวิจารณ์ของช่าง เพราะเขาเป็นคนลงมือทำ เขารู้มากกว่าเราอีก เขาสามารถให้คำแนะนำดีๆ กับเราได้

 

นอกจากนี้ ในการทำงานออกแบบผมยังสนใจเรื่อง “ความเป็นพื้นถิ่น” และ “งานสกุลช่าง” อีกด้วย เพราะพื้นเพพวกผมเป็นเด็กต่างจังหวัด ซึ่งสิ่งที่ผมสนใจ แบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ 1.มันคงน่าสนุกดีถ้าเรานำ “สกุลช่างไทย” มาทำให้เป็นงานโมเดิร์นได้ อาจทำให้เกิดความเนี้ยบหรืออารมณ์ใหม่ๆ เราเลยทดลองสายนี้มาพักนึง โดยเรียนรู้จากครูบาอาจารย์แล้วพัฒนาต่อยอดขึ้น 2.เรารู้สึกว่าถ้าไม่มีใครส่งเสริม วันนึงมันจะหายไป เราจะไม่เหลือรากหรือต้นทุนทางวัฒนธรรมของเราเลย ฉะนั้นงานส่วนหนึ่งของเรา ถ้ามีโอกาส...เราก็จะใช้เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งในเงื่อนไขในการออกแบบ

 

ซึ่งงานออกแบบของเราในหลายๆ โปรเจคมักจะมีลักษณะนี้ซ่อนอยู่ “เท่าที่น้ำหนักของเนื้องานจะลงถึง” เช่น งานไม้ไผ่ เมื่อก่อนไม้ไผ่เป็นเครื่องผูก เขาใช้ไม้ไผ่โดยการนำมามัดด้วยตอกและหวาย แต่เราเปลี่ยนมาเป็นการ Joint ใช้ลวดมัดเอา แล้วผูกด้วยเชือกมะนิลา ซึ่งมันผูกยาก ใช้เวลาและความเข้าใจสูง หรืออย่างการตีฝาเรือน เมื่อก่อนพวกผมจะตีไม้แนวนอน แต่มี Site หนึ่ง ที่ช่างเขาตีให้ในแนวตั้ง ซึ่งก็เป็นความชำนาญของช่างโดยแท้ ที่เขาจับไม้แล้วเค้ารู้ว่าไม้นี้เก่าและแน่นแล้ว เพราะการจะตีไม้แนวตั้งได้นั้น ไม้ต้องเก่าพอ เพราะมันจะแข็งและไม่หด แต่ถ้าใช้ไม้อ่อนไม้จะหดจะรั่วน้ำเข้าได้ กลายเป็นว่าเราได้สิ่งใหม่ขึ้นมาอีก จากความรู้ของช่างและเราก็ใช้สิ่งใหม่นี้เป็นประจำเลย

 

หรืออย่างโปรเจค อารมณ์ออร์คิด แม่ริม เชียงใหม่ คือผมเป็นคนเชียงใหม่และโตมาทันในยุคที่เขาทำเป็นสวนกล้วยไม้ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ผมยังเคยไปเที่ยวเลย แต่เมื่อเวลาผ่านไปธุรกิจก็อยู่ในช่วงขาลง พอเรามีโอกาสได้เขาไปทำ ผมวิเคราะห์ว่าน่าจะมีการปรับเรื่องการจัดเรียง เพราะถ้ากล้วยไม้อยู่ในแพทเทิร์นเดิมๆ คงดูน่าเบื่อ และพวกผมชอบเล่นอีกอันนึง คือ “ชอบทำความเข้าใจกับความเป็น Tropical” หรือความที่เราต้องอยู่ในเขตร้อนชื้น ผมว่ามันต้องมีบางเวลาสิที่พันธุ์พืชนึงอยู่ได้กับช่วงเวลานึง เราก็ทดลองนำโครงแป๊บเหล็กเดิมที่เคยใช้แขวนกล้วยไม้มาใช้ (พวกผมเป็นสายประหยัดครับ เราจะใช้ของให้คุ้มค่าที่สุดเท่าที่ต้องใช้ ไม่ชอบใช้ของล้น) ก็ทดลองในกระบวนการของพวกเรา...ตรงนี้แสงเยอะ แสงน้อย สร้าง Volume แสงที่แตกต่างกัน แล้วเอาพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับแต่ละ Volume เข้าไปใส่ ทำให้เกิด Mood ของเรือนกล้วยไม้ในมุมมองใหม่ เหมือนมาชมกล้วยไม้ในป่าไม่ใช่เรือนอนุบาล หลังจากนั้นก็ทำร้านอาหาร โครงสร้างจาก “ไม้ไผ่” (ที่ต้องไม้ไผ่เพราะไม่อยากให้คนจับต้องได้ว่ามันเป็นเรือนอนุบาล) ซึ่งมีข้อดีคือ น้ำหนักเบา ติดตั้งได้เลย พอนำไปผ่านกระบวนการเอาแป้งออกจากไม้ไผ่ก็เอามาหุ้มเลย แล้วมีดีเทลการเข้าไม้ซึ่งเป็นของใหม่ สุดท้ายงานเสร็จออกมาลูกค้าก็ชอบ เพราะมันเปลี่ยนความรู้สึกของคนที่ไปเคยไปเที่ยว เราทำให้ทั้งวงจรไม่ว่าจะเป็นสวนกล้วยไม้ ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน ดูกลมกลืนไปด้วยกันทั้งหมด วัสดุที่ใช้อย่าง ไม้ไผ่กับต้นไม้ ก็ทำให้เกิดความ Soft และมีความเป็นพื้นถิ่นที่มีดีเทลอยู่ในตัว

 

เรื่องหลักๆ ที่ผมคำนึงในการออกแบบคือหนึ่ง ผมเชื่อว่าสถาปัตยกรรมจะสามารถตอบสนองผู้ใช้โดยทั้งปวงได้ หมายถึงมองไปตรงไหน เห็นอะไรก็ถูกใจไปหมด ผมชอบแววตาเจ้าของเวลาเดินเข้าไปในบ้าน ไปเห็นเสา คาน หลังคา วัสดุ แล้วเขาตาลุกวาว เพราะเขาร่วมจินตนาการไปกับเรา สำหรับผม “Owner หรือเจ้าของ” คือหนึ่งในทีมงาน เราเป็นทีมเดียวกัน...บ้านโตมาพร้อมกับเขา เราคุยกันตั้งแต่มันเป็นกระดาษจนวันนึงกลายเป็นของจริง เขามาเห็นแล้วเขาตื่นเต้น  ผมชอบความประทับใจของเจ้าของบ้านที่มีต่อ Space ใดๆ ที่มันเกิดขึ้นในบ้าน  ผมชอบ Moment นั้น! และสองคือ เราพยายามพัฒนาทีมงานสตูดิโอมิติให้เข้าใจ “ความเป็นมนุษย์คนอื่น” เวลาทำงาน “เราอย่าเป็นตัวเองจนลูกค้าอึดอัด” คือไม่ใช่ว่าจะออกแบบงานให้ลูกค้าดีไซน์สวยชิคเลยนะ แต่ลูกค้าไม่มีความตื่นเต้นเกิดขึ้นแววตาเมื่อเขาได้เห็นมัน! อันนั้นคงไม่ใช่!  การทำงานของ Studiomiti เลยออกมาในลักษณะที่ว่า “จับทางไม่ได้สักอัน” คือ เราก็มีกลิ่นมี DNA ของเราอยู่ในแง่การเลือกใช้วัสดุ และการแก้ปัญหาของโปรเจคนั้นๆ ด้วยวิธีที่แตกต่างกันไป ผมว่านั่นน่าจะเป็น “หัวใจหลัก” ของการออกแบบโดยสตูดิโอมิติ

 

  • เราสามารถใช้ไม้ในการเป็นองค์ประกอบของบ้านได้ ในหลายกรณี ทั้งนี้ต้องรู้จักคุณลักษณะของไม้ว่า “ยืดหดได้” ตามสภาพภูมิอากาศ คายความร้อนเร็ว และเมื่อนำมาเรียงต่อกันก็สามารถทำให้เกิดทั้งส่วนทึบและส่วนโปร่งได้  ถ้าเรารู้คุณสมบัติดังนี้แล้ว ก็สามารถนำมาทำเป็น ผนัง ช่องลม ที่บังแดด หรือแม้กระทั่งพื้นชานที่สามารถนั่งเล่นและลมลอดผ่านได้ อีกทั้งการจัดเรียง Space และองค์ประกอบต่างๆ ของบ้าน เพื่อให้เกิด “ชาน” ของบ้านเรือนไทย ก็ยังสามารถมาพัฒนาแพทเทิร์นการจัดเรียงใหม่ให้อยู่ในรูปแบบของบ้านโมเดิร์นได้เช่นเดียวกัน

 

Favorite items

 

Living Inspiration @ SB Design Square

 

ส่วนตัวคือผมชอบเครื่องหนังครับ เพราะ โซฟาเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่นั่งได้หลายคน มุมนี้ก็ชวนจิตนาการได้ว่ามีคุณแม่และหลานๆ มานั่งเล่นกันได้ โซฟามีขนาดใหญ่ ดูเป็นมุมที่ช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ของคนในบ้าน และผมก็ชอบความ Warm Tone ความเป็นไม้ ซึ่งพอมาผสมกัน แล้วก็มีหมอนเข้ามาด้วย คือวัสดุต่างๆ มันดูเป็นมิตรและมีขนาดใหญ่ดูน่านั่ง

   

 

ส่วนมุมครัวนี้ ผมชอบเพราะมันเป็นฟังก์ชั่นแบบกระชับ คือใช้พื้นที่ทั้งทำครัวและเป็นพื้นที่ทานอาหารได้ด้วย ทุกคนจะได้นั่งดูนั่งคุยกันระหว่างทำอาหารได้ด้วย ทำให้ความสัมพันธ์ในบ้านดูน่ารักขึ้นครับ

 

ต้องการความช่วยเหลือทักแชตเลย

Live Chat With SB Design Squarex