2019 WEEK 35 "ธโนกร หวังพีระวงศ์"

2019week35
27 สิงหาคม 2019 8 view(s)
2019 WEEK 35 "ธโนกร หวังพีระวงศ์"

ABOUT HIM

 

สัปดาห์นี้ ชวนมาทำความรู้จักกับสถาปนิกหนุ่มผู้อยู่เบื้องหลังโครงการ “ลม/หายใจ” ทาวน์โฮมกลางเมือง ย่านเกษตร-นวมินทร์ ซึ่งโดดเด่นในดีไซน์ที่โอบล้อมไปด้วยธรรมชาติ และการมีพื้นที่เปิดโล่งโปร่งสบาย ได้อารมณ์เหมือนอยู่บ้านเดี่ยว ไปฟังไอเดียดีๆ ในการออกแบบที่อยู่อาศัยให้น่าอยู่กับ คุณโต๋ - ธโนกร หวังพีระวงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Studionomad

 

แนวคิดในการออกแบบของเราเน้นที่ “การตีความทุกอย่างจากบริบท” ครับ ซึ่งหลังได้ข้อมูลจากบริบทมาแล้ว เราก็จะมีการใส่ความรู้สึกหรือ Taste ส่วนตัวลงไปค่อนข้างเยอะ หรือบางทีถ้าไปเจอว่าพื้นที่แถวนั้นไม่มีอะไร “เราก็ต้องสร้างขึ้นมาใหม่” เช่น โครงการลม/หายใจ ที่ได้รับโจทย์ให้สร้างในลักษณะบ้านแถว (ซึ่งปกติมีความทึบตัน) เราก็ออกแบบตรงกลางให้เป็นรูปตัวยู แล้วทำ Façade ด้านหน้าขึ้นมาเป็นตัวกรองชั้นหนึ่งก่อน เพื่อกันเสียงรบกวนจากถนนใหญ่ แล้วจึงทำเป็นที่อยู่อาศัย Layer 1 ทำ Court คั่นเป็น Layer 2 และมีที่อยู่อาศัยถัดเข้าไปอีกเป็น Layer 3 ซึ่งถ้าเป็นโครงการทั่วไปอาจมองว่า สวนตรงกลางที่ล้อมรอบ Court นั้น ทำให้เสียพื้นที่ก่อสร้างไป (เพราะตึกแถวไม่ได้มีพื้นที่กว้างมากนัก) แต่ปรากฏว่าพอสร้างขึ้นมาจริงๆ พื้นที่ตรงนี้กลับช่วยเพิ่ม “การมองเห็น” แถมช่วยเรื่องลมและแสงได้เยอะมาก เป็นมูลค่าเพิ่มให้กับผู้อยู่อาศัยครับ

 

และอีกหนึ่งในความตั้งใจของเราคือ การพยายามสรรหาและเลือกใช้วัสดุที่เหมาะกับโปรเจคนั้นๆ ซึ่งเราชอบที่จะคิดพลิกแพลงเกี่ยวกับการนำวัสดุไปใช้ในรูปแบบที่อาจจะยังไม่เคยเกิดขึ้น หรือในทางที่เราคิดว่ามันมีความเป็นได้ อย่างโปรเจคลม/หายใจ เราใช้ Cladding ไม้ ที่ปกติมักถูกใช้ทำฝ้า มาทำเป็น Façade ตึก ซึ่งเป็นการผสมระหว่างอลูมิเนียมกับไม้เพื่อให้ดูมีความทันสมัยขึ้น คือเราใส่รสนิยมส่วนตัวเข้าไปด้วย โดยเราตีความในแบบของเราว่ามันก็ต้องไม่ดูเป็นธรรมชาติหรือเป็นบ้านไม้มากเกินไป เพื่อให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนเมือง และใช้เป็นฟังก์ชั่นในแง่ของฉากกั้นระหว่างคนข้างนอกกับผู้อยู่อาศัย  ขณะเดียวกันก็ยังได้ลมและแสงผ่าน ทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกถึงธรรมชาติที่เข้ามาในตัวบ้าน

หรืออย่างโปรเจคที่เชียงใหม่ แถวถนนนิมมานฯ ซึ่งเป็นบ้านพัก 4 หลัง ที่เจ้าของให้โจทย์ว่า อยากทำในลักษณะของ Vacation House และไม่อยากได้อะไรที่เป็นล้านนามากนัก ขอแค่กลิ่นอายก็พอ...วิธีคิดของเราคือ แค่ดึงองค์ประกอบ, สัดส่วนของช่องเปิด-หน้าต่าง, การจัด Space และเลือกใช้วัสดุบางอย่างที่เขาใช้กันบริเวณนั้น เช่นเรื่องหน้าต่าง ที่เชียงใหม่เราจะเห็นลักษณะหน้าบานที่สเกลเล็กๆ น่ารัก ทรงสูง และอาจจะมีบานเกล็ด แต่ถ้าในกรุงเทพฯ จะเป็นบานกระจกแบบ Frameless ที่เปิดไม่ได้และมีสัดส่วนค่อนข้างสูงใหญ่ ซึ่งเราก็เลือกใช้ในลักษณะนี้เข้าไปแทน และมีการนำอิฐมาเรียงแพทเทิร์นใหม่ คือนำมันมาแปลงเป็นอีกภาษาหนึ่งที่ดูสมัยใหม่มากขึ้น

 

ที่ Studionomad เราค่อนข้างถนัดกับการจัดการ “พื้นที่ที่ไม่มีอะไร” พอๆ กับพื้นที่ที่มี Context ครับ เพราะว่าเราชอบสร้างบรรยากาศขึ้นมาเอง สำหรับบ้าน...ในแง่ของ “ความรู้สึก” เราจะเน้นเรื่องแสงธรรมชาติให้เข้าถึงทุกส่วนของบ้านและที่สำคัญอีกอย่าง คือ “เรื่องวัสดุกับสัดส่วน” ของช่องเปิดทั้งหมด ซึ่งเราจะไม่เน้นทำสเกลที่คนรู้สึกว่า “เกี่ยวข้องสัมพันธ์ยาก” เช่น ห้องนอน จะไปทำเพดานสูง 7 เมตร คนก็จะรู้สึกว่ามันไม่ใช่และไม่เหมาะ เป็นต้น  และอีกประเด็นที่เราให้ความสำคัญคือ Transition ผมมองว่า การที่คนอยู่แล้วจะรู้สึกแฮปปี้หรือไม่  มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่เรื่องสัดส่วนหรือการใช้วัสดุราคาแพงเท่านั้น  แต่ขึ้นอยู่กับว่า...เขาเข้าไปอยู่แล้วรู้สึกกับ Space อย่างไรต่างหาก ซึ่ง “พื้นที่เชื่อมต่อหรือเปลี่ยนผ่าน” นี้ สามารถทำได้หลากหลายลักษณะ อาจจะด้วยการเปลี่ยนสี  เปลี่ยนวัสดุ หรือ Texture ก็สามารถเปลี่ยนอารมณ์ของเราได้แล้ว ดังนั้น เวลาที่ออกแบบบ้านสักหลัง ผมจะนึกภาพเป็นซีนว่า เราเข้ามาแล้วต้องรู้สึกยังไง? ก่อนเห็นอะไรก่อน? อะไรเป็น Transition ระหว่างห้องนี้ไปห้องนี้? เราจะเน้นตรงนี้เป็นหลักครับ เหมือนออกแบบประสบการณ์ในการอยู่อาศัย ให้เขาได้ซึมซับ Space  “ไม่ใช่แค่ออกแบบตัวสถาปัตยกรรม”...สำหรับผม Form เป็นสิ่งสำคัญ แต่น้อยกว่า “ความรู้สึกภายใน” ของคนที่เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับตัวสถาปัตยกรรมครับ

 

  • เมื่อจะเลือกสถาปนิกมาออกแบบบ้าน ควรเลือกคนที่คุณชอบสไตล์งานของเขา หรือคนไหนที่งานออกแบบของเขาเหมาะกับรสนิยมของคุณ  มากกว่าที่จะเป็นเพื่อนของคนรู้จักหรือเพื่อนของเพื่อน หลายคนชอบคิดว่า แค่บอกโจทย์ไปแล้วก็หวังจะให้สถาปนิก “ทำงานแบบที่คุณอยากได้” ผมว่า สถาปนิกทุกคน ถ้าให้ทำ...ก็ทำได้ทุกแบบ แต่ว่าทุกคนทำแต่ละแบบได้ดีไม่เท่ากัน  และอยากให้มองแยกกันระหว่าง “สถาปนิก” กับ “ผู้รับเหมา” นะครับ เพราะคนสองกลุ่มนี้มีวิธีคิด มุมมอง และกระบวนการทำงานที่แตกต่างกันครับ

 

  • ปล่อยให้มี “พื้นที่โล่ง” ในบ้านบ้าง เพื่อทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ไม่ใช่ว่าจะต้องมีฟังก์ชั่นอัดแน่นเต็มไปทุกพื้นที่!! แสงและลมจะช่วยสร้างความรู้สึกที่เปลี่ยนไปเวลาเราเปลี่ยน Space จากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง

 

Favorite items

 

Living Inspiration @ SB Design Square

 

ห้องนี้น่าสนใจ เพราะมีการเลือกใช้วัสดุลายไม้โทนสีดำมาตัดกับคิ้วสเตนเลสสีทอง ซึ่งมีความแตกต่างกันในเชิงของวัสดุทั้งในแง่ผิวสัมผัสและสีสัน แต่ก็สามารถนำมาผสมกันได้อย่างลงตัว จึงทำให้ห้องนี้ดูน่าสนใจครับ

   

 

ผมชอบห้องนี้ เพราะเป็นโทนของ “ไม้” ซึ่งเข้ากับสีของพร๊อพที่นำมาใส่ หรืออย่างโทนสีเทาของโซฟา อาร์มแชร์ สตูล พอผสมเข้าไปแล้ว มันให้ความรู้สึกเบาๆ และเข้ากันดี ให้ความรู้สึกอบอุ่นชวนผ่อนคลาย ไม่อึดอัดหรือเป็นทางการมาก ซึ่งก็เป็นไอเดียในแง่ของการกล้าใช้คู่สี เพราะปกติในไทยจะใช้สีขาวบวกกับเฟอร์นิเจอร์ลายไม้เป็นส่วนมาก  

 

ต้องการความช่วยเหลือทักแชตเลย

Live Chat With SB Design Squarex