2019 WEEK 25 "รัฐภรณ์ สุชาตานนท์"

2019week25
18 มิถุนายน 2019 12 view(s)
2019 WEEK 25 "รัฐภรณ์ สุชาตานนท์"

ABOUT HIM

 

สัปดาห์นี้ ชวนคุณมาทำความรู้จักกับ “ภาษา” ที่มิอาจรับรู้ได้จากการได้ยิน แต่สัมผัสได้ทางความรู้สึกผ่าน จุด-เส้น-ระนาบ  ซึ่งก็คือ “ภาษาของงานสถาปัตยกรรม”...สิ่งพื้นฐานที่สื่อสารภาษาดีไซน์ผ่านความเรียบง่ายในงานออกแบบ กับ คุณบูม - รัฐภรณ์สุชาตานนท์ จากNORMAL PRACTICE

 

“เวลาออกแบบ ผมมักจะกลับไปคิดถึงวิชา Basic Design ที่เรียนสมัยมหาวิทยาลัยปี 1 เสมอ เพราะมันเป็นสิ่งซึ่งเรียบง่ายที่สุด เราจะใช้เรื่องพวกนี้สะท้อนออกมาเป็นภาษาหนึ่งของงานสถาปัตยกรรมในงานของเรา ทำให้เราแก้ปัญหาด้วยความ Simple ที่สุด...ผมไม่ได้เอาเรื่องคอนเซ็ปต์เป็นตัวนำ แต่จะเอาทุกปัญหามากองรวมกัน และค่อยๆ แก้ปัญหา และสุดท้ายมันจะคลี่คลายและสะท้อนออกมาเป็นสถาปัตยกรรมเอง”

 

ที่ NORMAL PRACTICE เราไม่ได้ยึดติดว่างานต้องเป็นสไตล์ไหน แต่ส่วนใหญ่ลูกค้าที่เข้ามาจะไปทางโมเดิร์น หรือบางคนอาจไม่ได้มาทางโมเดิร์นแต่สุดท้ายก็จะจบด้วยการมีความโมเดิร์นเข้าไปแทรกอยู่ตลอดเวลา ส่วนตัวผมมองว่า “โมเดิร์นมันง่าย” หมายถึง ไม่ต้องดูเยอะ เป็นการลดทอนทุกอย่างให้ดูเรียบง่ายที่สุด แต่ใช้งานได้จริงและสอดรับกับการใช้ชีวิต

 

ทุกวันนี้เทรนด์เรื่องบ้านเปลี่ยนไปไวมาก ก่อนหน้านี้เราเห็นลอฟท์ สักพักก็เป็นงานก่ออิฐโชว์แนว เล่น Patern ต่อไปก็จะเป็นพวกผิวปูนสกัด  สมัย1950 กำลังจะกลับมา ซึ่งบางทีลูกค้าก็จะรู้สึกตื่นเต้นไปกับสิ่งต่างๆ ที่เขาได้เห็นได้รับรู้ ลูกค้าบางคนมาหาเราด้วนเทรนด์อยากได้อะไรที่กำลังสวย กำลังนิยม ...แต่ส่วนตัวผมมองว่า “เรื่องบ้าน” เราต้องตัดเรื่องเทรนด์และแฟชั่นออกไปก่อนในแง่ของ "ตัวสถาปัตยกรรม" แล้วค่อยเอาสิ่งเหล่านั้นไปใส่ในงานตกแต่งภายในแทนจะดีกว่า เพราะ “ตัวสถาปัตยกรรม” เป็นสิ่งที่ต้องอยู่ไปอีกหลายช่วงอายุ  ในบ้านก็มีคนหลายรุ่น ต่อให้วันนี้อยู่กันสองคน แต่วันหนึ่งเราก็ต้องแก่ หรือต้องมีลูก

 

ดังนั้นเวลาออกแบบบ้าน อย่างแรกที่ผมจะเน้น คือ ความ Timeless อย่างที่สอง ผมมองว่าตัวสถาปัตยกรรมเป็นเหมือนงานศิลปะชิ้นหนึ่ง “เป็นงานศิลปะที่มีฟังก์ชั่น” มันประกอบด้วย Form & Matter คือ มีทั้งรูปทรงและเนื้อหา...สถาปัตยกรรมที่ดี “ต้องเล่าเรื่อง” ของตัวเองได้  ซึ่งในความเป็นจริงเรื่องหรือเนื้อหาในงานออกแบบนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยาก ค่อนข้างเป็นนามธรรม สำหรับลูกค้า แต่สิ่งพื้นฐานที่ลูกค้าจะสัมผัสได้โดยตรง คือ การใช้งาน ต้องใช้งานได้อย่างง่ายดาย ไม่สร้างปัญหา ไม่เป็นภาระ อันนี้คือสิ่งที่บ้านทุกหลังต้องมี

 

หลักในการออกแบบของผม คือ ต้องพยายามเข้าไปแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้มากที่สุด โดยตัวสถาปัตยกรรมต้องตอบโจทย์ตรงนี้  Form คือ สิ่งที่เป็นรูปธรรม  มาจากที่ว่าง จาก Space ซึ่งถ่ายทอดผ่านการใช้งาน เช่น อยู่สบาย มีการใช้งานที่เหมาะสมกับคนทุกเพศทุกวัย คือ User ไม่ต้องไปอ่านคอนเซ็ปต์ของสถาปนิกหรอก แค่เขาเข้าไปใช้พื้นที่แล้วเขามีความสุขกับมัน ผมว่านั่นก็คือการสื่อสารทางหนึ่งแล้ว

 

ส่วนงานตกแต่งภายใน ถ้าเป็น “พื้นที่ส่วนตัว” เช่น ห้องนอน ผมไม่ซีเรียส เอาตามที่ลูกค้ามีความสุขได้เลย ไม่จำเป็นต้องล้อไปกับตัวสถาปัตยกรรม แต่ถ้าเป็น “พื้นที่ส่วนกลาง”เราจะค่อนข้างเคารพในตัวสถาปัตยกรรม เราก็ต้องมาคุยกันว่าทำยังไงที่จะไม่ไปรบกวนงานสถาปัตยกรรมมากเกินไป เพราะสถาปัตยกรรมมีภาษาของมันอยู่ สถาปนิกเขาออกแบบที่ว่างขึ้นมา ก็เพื่อ “ให้ที่ว่างนั้นทำงานได้เต็มที่” ที่ว่างต้องให้อะไรกับคนที่เข้าไปใช้งาน เช่น ห้องรับแขก ทำไมต้องเป็น Double Space เพราะเป็นพื้นที่ที่จะมีคนอยู่เยอะ อยากให้ดูแกรนด์ ดู Welcome ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับแขก มี User หลากหลายกลุ่ม Space ก็ควรที่จะดูเป็นทางการหน่อย แต่ถ้าเราใส่เฟอร์นิเจอร์เข้าไปเยอะ ตกแต่งมากไป มันก็จะไปรบกวน Space คาแรคเตอร์ของห้องก็เปลี่ยนไป มันก็ไม่เหมาะ

 

ดังนั้น อินทีเรียร์ดีไซน์เนอร์ที่ดีควรต้องอ่าน “ภาษาของสถาปัตยกรรม” ให้ออก เช่น ภาษาของโมเดิร์น คือความมินิมอล คือการลดทอน ถ้าบ้านดูโมเดิร์นมากๆ แต่คุณมาแต่งพื้นที่ส่วนกลางให้มีอะไรต่ออะไรเต็มไปหมดก็คงไม่ใช่  แต่คุณต้องรู้ว่าเฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะกับ “ที่ว่าง” ตรงนี้คืออะไร โดยต้องตอบสนองการใช้งานได้  มีความพอดีและไม่รบกวน Space  ซึ่งผมมองว่ามันควรเป็นการอยู่ร่วมกันได้แบบไม่ตึง มีความยืดหยุ่น สนุกและมีเรื่องเทรนด์หรือสีสันอะไรเข้ามาในสัดส่วนที่พอดี ซึ่งผมจะให้ความสำคัญกับสัดส่วนของวัสดุค่อนข้างมาก ผมเชื่อว่าสัดส่วนที่สวยต้องไม่ใช่ครึ่งๆ น่าจะสัก 80-20 หรือ 70-30 กำลังสวย  เช่น ถ้าตัวสถาปัตยกรรมเรานิ่ง  ตัวงานตกแต่งภายใน เราก็อาจมีอะไรที่เป็นสีสันเติมเข้ามาสัก 1-2ชิ้น มีเฟอร์นิเจอร์ที่ดู Free Form หรือดูผิดที่ผิดทางเข้ามาสักหน่อย เพื่อให้ดูน่าสนใจ ไม่แห้งแล้งจนเกินไป

 

อีกเรื่องที่ผมให้ความสำคัญมาก คือ “ความยืดหยุ่น” ในการใช้งาน จากที่ทำงานมาอย่างหนึ่งที่สังเกตเห็นคือ ลูกค้ามักจะมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่การใช้งานอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด โดยเฉพาะในงานบ้านพักอาศัยซึ่งเป็นงานที่มีความปัจเจกที่สุดแล้ว บางคนชอบเปลี่ยนตำแหน่งโซฟาทุกเดือนก็มี ซึ่งผมมองว่าตรงนี้เป็นเสน่ห์ของความเป็นครอบครัว ความเป็นบ้าน ซึ่งคือชีวิตจริง...ที่เราไม่ได้สมบูรณ์แบบ ขนาดจะต้องอยู่แบบเป๊ะๆ ไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย

 

ดังนั้น เวลาออกแบบบ้าน ผมเลยจะออกแบบเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเรื่องตรงนี้ให้ด้วย คือ ถ้าเขาจะหมุนโซฟาไปอีกทางหนึ่ง ก็สามารถย้ายทีวีไปได้เลย  เราเตรียมระบบ Lan ระบบไฟฟ้าหรืออะไรต่างๆ ไว้ให้พร้อม  หรืออย่างบางโปรเจค ลูกค้าอยากได้ห้องรับแขกเป็นส่วนแยกออกมา เผื่อว่าวันนึงจะปรับเปลี่ยนเป็นร้านกาแฟ เราก็วาง Planning ไว้ให้ 2 แบบเลย คือแบบที่จะเป็นห้องรับแขกก็ได้ และแบบที่วันหนึ่งมันจะถูกพัฒนาให้กลายเป็นร้านกาแฟก็ได้ โดยเราวางระบบท่อน้ำไว้ให้ด้วย แต่ปิดไว้ใต้พื้น คือพอถึงวันหนึ่งที่เขาต้องการปรับเปลี่ยน จะได้ไม่ต้องไปทุบไปรื้อใหม่

 

หรือบางบ้าน วันนี้เขามีห้องโชว์โมเดลของสะสม แต่เขาบอกว่าวันหนึ่งห้องนี้จะต้องถูกปรับเปลี่ยนเป็นห้องนอน เผื่อมีลูกหลานมากขึ้น เราก็เดินระบบห้องน้ำไว้ให้เลย เพราะเรารู้อยู่แล้วว่า ถ้ามันถูกปรับเปลี่ยนเป็นห้องนอน จะมีอ่างน้ำอยู่ตรงไหน สุขภัณฑ์อยู่ตรงไหน คือเราเจอเคสแบบนี้เยอะมาก ซึ่งผมก็มองว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ มันสมเหตุสมผล เพราะการลงทุนกับเรื่องงานระบบอะไรพวกนี้มันไม่กี่บาท ซึ่งจะดีกว่าถ้าถึงเวลาต้องเปลี่ยนจริงๆ แล้วต้องไปรื้อไปทุบอะไร ซึ่งมันจะหนักกว่ากันเยอะ หรือจุดไหนที่การเปลี่ยนอุปกรณ์บางอย่างทำได้ยาก ผมก็เผื่อให้เลย 2 ชุด เผื่อเกิดปัญหาจะได้ไม่ต้องมานั่งเลาะกระเบื้อง รื้อพื้น รื้อฝ้า เพื่อเดินสายไฟ หรือท่อน้ำใหม่ ซึ่งมันไม่คุ้ม เรื่องเหล่านี้ไม่มีสอนในโรงเรียน แต่พอทำงานไปเรื่อยๆ เราจะเริ่มรู้เองว่า ตรงนี้เป็นจุดบอดของการทำงาน

 

อีกเรื่องที่ผมให้ความสำคัญ คือ พื้นที่ Transition การเปลี่ยนผ่านไปแต่ละพื้นที่ ทุกงานของผมจะมีพื้นที่ที่เป็น Open Air คือลักษณะเหมือนใต้ถุนคือมีช่องให้ลมผ่าน มีพื้น มีหลังคา แต่ไม่มีกำแพง ผมว่าพื้นที่แบบนี้มีความสำคัญ มันเป็นพื้นที่ที่จะช่วยเปลี่ยนผ่านทั้งอารมณ์ ความรู้สึกและตอบสนองด้านการใช้งาน ไม่ใช่ว่าอยู่ในบ้านแอร์เย็นๆ พอเดินออกไปเจอแดดร้อนเลย หรือพื้นที่ที่เป็น Public อยู่ดีๆ ก้าวเข้ามากลายเป็นพื้นที่ Private ทันที อันนี้ไม่เหมาะ  ยกตัวอย่าง เช่น บ้านพักอาศัยชั้นเดียว เราอาจจะแยกพื้นที่ Public และ Private ด้วยการทิ้ง Corridor ยาวๆ หรือ  เราแค่ทำบันได้สัก 2 ขั้น แค่นี้ก็รู้สึกได้ถึงความ Private แล้ว เพราะถ้าเราไปบ้านคนอื่น การก้าวขึ้นบันไดมันจะให้ความรู้สึกของการรุกล้ำ นี่คือการแก้ปัญหาด้วย Basic Design  เพราะ “บ้าน” ไม่ได้มีแค่เรา แต่ยังจะมีแขกหรือผู้มาเยือน ทั้งแบบสนิทและไม่สนิท ฉะนั้นการออกแบบพื้นที่ Transition เหล่านี้ จะช่วยแบ่งพื้นที่ตามการใช้งานให้เหมาะสม และ สร้าง Sequence ของการเข้าถึงแต่ละพื้นที่ด้วย

 

บ้านสมัยนี้มักมีพื้นที่รับแขกหลายลักษณะ เช่น รับแขกแบบไม่ให้เข้าบ้าน อย่างคนส่งอาหารซึ่งเราก็เบรกกันแค่ใต้ถุนพอ บางทีลูกน้องมาหาก็อาจจะคุยกันแค่หน้าบ้านก็ได้ หรืออย่างช่างมาทำงานเซอร์วิส ก็คงไม่เหมาะที่จะให้เขาเข้ามาในพื้นที่เป็นส่วนตัวมากๆ อย่างห้องนอน ห้องเซฟ ห้องของสะสม...เวลาออกแบบ เราก็ต้องดูด้วยว่า ห้องประเภทนี้ จะมีคนประเภทไหนที่จะเข้าถึง เราต้องจัดสรรเรื่องงานระบบไว้ให้ดี คือ คิดเผื่อไว้เลยว่าถ้าจะมีการเซอร์วิส ช่างจะก็ต้องเข้ามาแบบไม่รบกวนภายในตัวบ้าน โดยอาจวางงานระบบไว้ข้างนอก ให้ช่างล้างแอร์ได้โดยไม่ต้องเข้าห้องก็มี

 

ในงานออกแบบ ประเด็นเรื่อง “ความสวย” ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันเสมอว่า สวยคืออะไร? เพราะความสวยของแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่มีอีกคำที่น่าสนใจ คือคำว่า Significant Form ซึ่งเป็นทฤษฎีศิลปะทางด้านรูปทรง แต่ผมเรียกง่ายๆว่ามันคือความกลมกล่อม เป็นรูปทรงที่มีนัยยะซ่อนอยู่ และเป็นสิ่งที่ถูกจริตกับเจ้าของบ้าน ไม่ใช่แค่ถูกจริตดีไซน์เนอร์ คือบางทีเราออกแบบโดยคิดทุกอย่างจากฟังก์ชั่น จากเหตุและผล แต่สุดท้ายมันไม่ใช่ทั้งหมด เพราะจะมีมิติทางอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย...หาเหตุผลด้านฟังก์ชั่นไม่ได้ แต่สุดท้ายแล้วคือ “มันมีนัยยะ” ทำให้เกิดความกลมกล่อมทางดีไซน์ ทำให้ดูสวยขึ้น ทำให้น่าใช้งานมากขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของสถาปนิกที่จะสร้างสถาปัตยกรรมออกมาให้ผู้อยู่อาศัยหรือผู้ใช้งาน เข้าถึงสุนทรียะได้เช่นเดียวกับที่ผู้ออกแบบเชื่อในสุนทรียะนั้นๆ ฉะนั้น ในงานออกแบบตกแต่งบ้าน ผมถือว่าเป็นอะไรที่คุณไม่ต้องสนใจคนอื่นมากหรอกครับ ความพอใจของผู้อยู่อาศัยต้องมาก่อน คือ “พอดีแล้วต้องพอใจ” ถ้าพอดีแล้วไม่พอใจก็เท่านั้น 

 

  • การทำพื้นที่ให้ยืดหยุ่น การจัดพื้นที่แบบ Open Plan คือสิ่งที่ง่ายที่สุด เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความยืดหยุ่นและต่อเนื่อง   แต่มันต้องตามมาด้วยเรื่องของการเตรียมงานระบบ  เพราะถ้าแค่ย้ายเฟอร์นิเจอร์ แต่แอร์ไม่ถึง ทีวีไม่ตามมา มันก็ไม่ได้ดังนั้น ต้องเตรียมเรื่องเหล่านี้ Support ไว้ด้วย หรือบางบ้านตกแต่งสไตล์โมเดิร์นเลย ในครัวมีไอส์แลนด์สวยงาม แต่เขายังใช้ครกหินอยู่เลย เราก็ต้องรู้ว่าควรเลือกใช้วัสดุอะไรและเตรียมพื้นที่อย่างไร เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมการใช้งานสิ่งสำคัญในการออกแบบคือ “ต้องโฟกัสที่คน ไม่ใช่ให้คนมาโฟกัสที่สถาปัตยกรรม”

 

  • ปัญหาความร้อน ร้อนเหมือนกันแต่คาแรคเตอร์ไม่เหมือนกัน แดดทิศใต้จะทำมุมสูง เครื่องมือในการแก้ปัญหาที่เหมาะสม คือการทำชายคายื่นยาว หรือ การใช้ระแนงแนวนอน ในการป้องกันแสงแดด  ส่วนแดดทิศตะวันตกซึ่งทำมุมต่ำ ควรใช้ระแนงแนวตั้ง เพื่อให้เกิดการเหลื่อมของแสงจะช่วยป้องกันแสงแดดได้มากกว่า ดังนั้นการแก้ปัญหาความร้อนของแดดจะใช้เครื่องมือเดียวกันไม่ได้  แต่ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับปัญหาและสภาพพื้นที่

 

 

Favorite items

 

Living Inspiration @ SB Design Square

 

ผมชอบมุมนี้ ตรงที่มันมีความลงตัวของดีไซน์ตู้ลิ้นชักที่ดู Massive หนักๆ กับความโปร่งของชั้นวางของ ซึ่งมีสัดส่วนที่แตกต่างกัน แต่พอมาวางอยู่ด้วยกันแล้วมันดูลงตัว รวมถึงการใช้วัสดุที่มันดูจริงโชว์สัจจะวัสดุอย่างสเตนเลส ไม้ และหนัง แล้วก็มีแสงธรรมชาติเข้ามาทำให้ทุกอย่างดูนุ่มนวลขึ้น ทำให้เป็นมุมที่ดูสบายน่านั่ง

 

 

ส่วนมุมนี้ มันมีความน่าสนใจเรื่องการผสมของวัสดุ คือโดยรูปทรงมันอาจจะดูขัดแยกกัน เหมือนจะอยู่ด้วยกันไม่ได้ แต่ในรายละอียดของวัสดุ อย่าง ชั้นวางของซึ่งมีการทำสีสันที่ลดความเป็นโมเดิร์นทำให้มันอยู่ร่วมกันได้กับของตกแต่งที่ดู Antique

 

ต้องการความช่วยเหลือทักแชตเลย

Live Chat With SB Design Squarex