2019 WEEK 10 "ปัทมา พรภิรมย์"

2019week10
5 มีนาคม 2019 5 view(s)
2019 WEEK 10 "ปัทมา พรภิรมย์"

ABOUT HER

 

การออกแบบบ้าน ไม่ใช่แค่การทำให้สวยแต่ที่เราเน้นคือ “การทำบ้านให้เป็นบ้าน”  เพราะบ้านคือที่ซึ่งคนคนนึงต้องใช้ชีวิตอยู่ ไม่ใช่เรื่องภายในหรือภายนอก เพราะทั้งสองสิ่งนี้เป็นเรื่องเดียวกัน...เวลาเราอยู่บ้านเราใช้ชีวิตอยู่กับมัน บ้านจึงเป็น “ชีวิตของเจ้าของบ้าน” เราจึงสนใจว่าเจ้าของบ้านเขาจะอยู่อย่างไรในบ้านหลังนั้น เขาจะมีประสบการณ์กับมันอย่างไร ที่จะทำให้เขาอยู่แล้วมีความสุข สัปดาห์นี้ “มาทำบ้านให้เป็นบ้าน” กับคุณมิค – ปัทมา พรภิรมย์ Project Director จาก Monotello

 

การทำบ้านให้เป็นบ้าน คือ ทำยังไงให้ผู้อยู่อาศัยเขารู้สึก “อยากอยู่บ้าน” ซึ่งเรามักจะสร้างความรู้สึกแบบนี้ให้กับลูกค้าในทุกๆ หลัง เพราะเรามองว่า “บ้าน” ไม่ใช่แค่ที่พักหรือที่นอน ดังนั้น ขั้นแรกเราต้องเอาโจทย์ของลูกค้ามาตั้งประเด็นกับพื้นที่ว่าเขาต้องการพื้นที่แบบไหน มีงบประมาณเท่าไหร่ เวลาลูกค้าเข้ามาหาเรา เขาจะมาด้วยความคาดหวังว่าเขาต้องได้บ้านที่ดี ทั้งนี้ เวลาเราออกแบบบ้าน เราจึงจะให้ความสำคัญกับการ “ใส่ประสบการณ์” ให้การอยู่บ้าน และการคิด “พื้นที่ของครอบครัว” พอสมควร ซึ่งหมายถึง พื้นที่ส่วนกลางที่ทุกคนมาเจอกัน ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นห้องนั่งเล่นเสมอไป อาจเป็นชาน ระเบียงข้างนอกติดกับสระว่ายน้ำ อารมณ์ว่าคุณพ่ออาจจะนั่งพักผ่อนอยู่  แล้วลูกๆ เดินกลับมา ซึ่งคุณแม่ทำกับข้าวอยู่ในครัวก็มองออกมาเห็น ซึ่งตำแหน่ง “พื้นที่ของครอบครัว” ของแต่ละบ้านก็จะแตกต่างกันไปตามบริบทและความต้องการของเจ้าของบ้าน มันจะเป็นพื้นที่ซึ่งทุกคนได้ทำกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ ขณะเดียวกันทุกคนก็ยังคงมองเห็นกันและกัน มันเป็นเรื่องของ “ความเชื่อมโยง” ซึ่งเป็นหัวใจของบ้าน

 

และพื้นที่หรือฟังก์ชั่นที่เรามักจะใส่เข้าไปให้ลูกค้าเสมอ จะเป็นเรื่องของ Double Space ทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง เช่น การขโมยพื้นที่ชั้น 1 และชั้น 2 มาทำให้เชื่อมกันให้กลายเป็นโถงสูง เพื่อเชื่อมระหว่างห้องข้างบนกับห้องข้างล่างให้เห็นต่อเนื่องกัน เวลาอยู่บ้านกันสองคน เราก็สามารถรู้ได้ว่าอีกคนทำอะไรอยู่ อย่างน้อยคือ “การได้เห็นกันและกัน” ส่วนในแนบราบ ก็เช่นว่าห้องอีกห้องหนึ่งอาจไม่ได้กั้นด้วยกำแพง แต่อาจเป็นเพียงพาร์ทิชั่นบางๆ กั้นไว้เพื่อความเป็นส่วนตัว หรือการมีความเชื่อมต่อระหว่างฟังก์ชั่นห้องนอนลูก ห้องนอนแม่ เรามักจะให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่เป็น Key Space อย่างนี้ เพื่อทำบ้านให้เป็นบ้าน ไม่ใช่ว่ากลับมาแล้วต่างคนต่างขึ้นห้องของตัวเอง

 

นอกจากนี้ สิ่งที่ให้ความสำคัญในการออกแบบ ทั้งในด้านสถาปัตย์และอินทีเรียร์ คือการ Connect ในเรื่องของวัสดุและพื้นที่ค่ะ เช่น วัสดุที่ใช้ตรงผนังภายในก็ไหลไปอยู่ข้างนอกได้ สร้างความต่อเนื่องที่เห็นชัดเจน เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าอันนี้คือข้างในนะ อันนี้คือข้างนอกนะ เวลาเราคิดงาน เราคิดทีเดียวพร้อมกันเลยทั้งภายในและภายนอกค่ะ

 

ถ้าเป็นเมื่อก่อนเวลาจะออกแบบบ้านให้ลูกค้า เราก็ถามเขาว่าคุณอยากได้บ้านยังไง? แต่หลังจากที่อยู่ตรงนี้มาเป็นสิบปี ตอนนี้มุมมองเราเปลี่ยนไปค่ะ เราหันมาถามลูกค้าว่า คุณทำบ้านเพราะอะไร? อยากได้บ้านทำไม? อยากได้ไปทำอะไร? คือคำถามมันเปลี่ยนไป เพราะเรารู้สึกว่า บ้านดีไซน์สวยๆ อันนั้นเป็นแค่เรื่องของภาพลักษณ์ เป็นแค่ “ภาพที่เขาต้องการ” แต่เราในฐานะสถาปนิก เราควรต้องเอาภาพนั้นมาตีโจทย์ใหม่ เพราะ “บ้าน” เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ ความเป็นครอบครัว มันต้องมี “หัวใจ” อยู่ในนั้นด้วย

 

  • Waste Space คือ พื้นที่ที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นในบ้าน  เพราะเป็นพื้นที่จุดอับของตัวบ้าน มันจะทำให้ลามมาถึงเรื่องของการระบายอากาศด้วย เช่น ปลายทางเดิน  ซึ่งแทนที่จะปล่อยให้ดูมืดๆ ตันๆ ไม่น่าเดิน เราก็สามารถแก้ด้วยการออกแบบให้มีแสงพาดเข้ามาที่ผนังตรงนั้น
  • สวย ใช้ดี ดูแลง่าย เรื่องความสวยงามและใช้งานได้ดีเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจในการออกแบบ แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องไม่ลืม คือ การดูแลรักษาได้ง่าย เช่น เรื่องของเครื่องปรับอากาศที่หลายๆ บ้านมักนำ Condenser Unit ไปแอบไว้ข้างหลัง ซึ่งถ้าทำแบบนั้น ช่างก็จะเข้าไปจัดการได้ลำบาก เราก็เลือกที่จะออกแบบให้เป็นชานพัก หรือมีบันไดที่เข้าถึงได้โดยง่าย และเมื่อทุกๆ ส่วนของบ้านนั้นสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึงแล้ว ความสวยและการใช้งานได้ดีก็จะอยู่กับบ้านไปได้นาน
  • การเลือกใช้วัสดุ ถ้าคุณชอบสัจจะวัสดุและเน้นการเลือกใช้วัสดุจริง เช่น หินอ่อน สิ่งที่ควรทราบคือ คุณต้องหมั่นดูแลรักษา  ปีนึงต้อง Coating ใหม่อย่างน้อย 1 ครั้ง สัจจะวัสดุเป็นสิ่งที่ต้องมีการดูแลรักษา เพราะถ้าไม่สนใจเรื่องพวกนี้ วันหนึ่งสภาพมันจะแปรเปลี่ยนไปไม่สวยเหมือนแรกๆ ที่เห็น คุณอาจจะต้องยอมรับและเข้าใจในจุดนี้  

 

Favorite items

 

Living Inspiration @ SB Design Square

 

ด้วยสัดส่วนของเฟอร์นิเจอร์ในห้องนี้ ทำให้เรานึกถึงครอบครัวเล็กๆ ตู้ข้างหลังเหมือนเป็นตู้กับข้าว และด้วยความที่เป็นสีดำกับสีไม้ มันทำให้วัสดุ ไม้ดูเด่นชัดขึ้น ตัวสีดำดูกลืนไปกับพื้น ทำให้ตู้ส่วนบนดูเหมือนลอยอยู่ คือการมีดีไซน์ตรงส่วนฐานด้านล่างเป็นสีดำมาช่วยตัด มันทำให้ตู้ดูไม่หนัก 

 

 

มุมนี้ โซฟาดูเด่นออกมาเลย ส่วนตู้ก็ดูมีลูกเล่นกับแผ่นโลหะ คือด้วยความที่มันเหมือนสัจจะวัสดุแล้วมาเล่นกับสีขาวและสีไม้มันก็ทำให้ดูน่าสนใจดี ตัวตู้ก็ไม่จำเป็นต้องสูงถึงเพดาน เป็นแค่เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวที่ดูเบาๆ ย้ายไปวางตรงไหนก็ดูไม่หนัก  ด้านสีสันก็คุมโทนได้ดีค่ะ คือพอเรามีโซฟาสีเทา มันจะเหมือนเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างพร๊อพทุกอย่างเลย

 

ต้องการความช่วยเหลือทักแชตเลย

Live Chat With SB Design Squarex