2019 WEEK 1 "วรรณภัทร เจนพานิชการ"

2019week1
1 มกราคม 2019 12 view(s)
2019 WEEK 1 "วรรณภัทร เจนพานิชการ"

ABOUT HER

 

               สัปดาห์นี้ชวนมาเปิดกล่องความคิดกับ คุณปลาย - วรรณภัทร เจนพานิชการ Associate Interior Designer จาก Openbox Architects อีกหนึ่งสตูดิโอออกแบบของไทยที่ประสบความสำเร็จในเวทีโลก ด้วยการคว้ารางวัล German Design Awards (รางวัลด้านการออกแบบซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ) เมื่อปี 2018 ในโปรเจค Marble House ซึ่งออกแบบจากกระเบื้องลายหินอ่อนที่สวยเรียบง่ายแต่งดงาม และอีกหลากหลายผลงานที่ล้วนโดดเด่นชวนประทับใจ อาทิ Plearnwan Huahin, Saladaeng One, Jin Wellbeing, The Creek Residence Series

               แนวคิดหลักในงานออกแบบของ Openbox คือ “ความเรียบง่ายแต่สื่อสารได้ถึงตัวตน” ของที่นั้นๆ เพราะเราเชื่อว่าแต่ละอาคารที่เราออกแบบในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ที่สำคัญคือเราออกแบบให้งาน Architect, Interior และ Landscape หล่อหลอมกลมกลืนเป็นภาพเดียวกัน ทำให้ภายนอกลื่นไหลเข้ามาสู่ภายในผ่านการเลือกใช้ “วัสดุ” รวมถึงการเชื่อมโยงภายในไปสู่ธรรมชาติภายนอก มองออกไปแล้วได้เห็นความเขียวของต้นไม้ใบไม้ ปกติถ้าเราไปเจอต้นไม้ในไซต์งาน เราจะพยายามเลือกเก็บไว้เพื่อให้มีที่มาที่ไป ว่าพื้นที่นี้เคยมีต้นนี้อยู่ เพราะบางทีต้นไม้ก็มีเรื่องราววัยเด็กของเจ้าของบ้านอยู่ตรงนั้นด้วย...เป็น “ความทรงจำ” ของเจ้าของพื้นที่ที่เราอยากจะเก็บไว้ค่ะ

               เรามีแนวทางในการออกแบบที่ทำให้ “วัสดุได้แสดงศักยภาพ” ของตัววัสดุเองให้ออกมามากที่สุดด้วยค่ะ เช่น Marble House ที่เราใช้กระเบื้องลายหินอ่อนบาง 3 มม. ขนาด 3 เมตร มาทำเป็น Cladding Façade เพื่อทำให้บ้านสวยเหมือนเป็น Showcase ทำให้ตัววัสดุได้โชว์จุดเด่นในตัวเองมากที่สุดค่ะ หรือวัสดุอื่น เช่น เหล็ก ที่ทีมเลือกนำมาใช้สร้างภาพลักษณ์ให้กับคอนโด The Base สะพานใหม่ เราเอาเหล็กมาดัดเป็นโครงให้ดูพลิ้ว เพื่อแสดงให้เห็นว่า นี่คือความจริงที่วัสดุเหล็กทำได้นะ คือเราก็ไม่จำกัดว่ามันต้องเป็นได้แค่สี่เหลี่ยมเส้นตรงเท่านั้น หรืออย่างผ้าซึ่งปกติเป็นวัสดุสัมผัสนุ่ม เราก็เอาไปเคลือบแข็ง เพื่อเสริมความทนทานให้ตัววัสดุสามารถนำไปใช้งานภายนอกแบบกึ่งเอ้าท์ดอร์ได้ หรืออย่างพวกพื้นลามิเนต ไม้อัด ปาร์ติเกิลบอร์ด ในสมัยที่ทุกคนคิดว่ามันจะต้องอยู่แค่ที่พื้น เราก็ลองเอามาใช้กรุผนังกรุบันได เพื่อสร้างให้เห็นว่าลามิเนตมันใช้ได้มากกว่าที่คิด...เราสนุกกับการคิดการทดลองใช้ “วัสดุ” ในรูปแบบต่างๆ เพราะวัสดุเป็นสิ่งที่สื่อสารและสร้างอารมณ์ให้งานดีไซน์ได้ค่ะ

               สิ่งเหล่านี้มันเหมือน Know How ตั้งแต่บรรพบุรุษที่เขาเรียนรู้กันมา เราก็พยายามไปศึกษาตรงนั้นและดูว่ามีเทคโนโลยีอะไรใหม่ก็นำมาปรับใช้กับยุคปัจจุบัน เช่นเดี๋ยวนี้ มีวัสดุทดแทนไม้เยอะขึ้น มีพวกลามิเนตที่เป็นลักษณะคล้ายกระจก มันก็มาช่วยให้งานอินทีเรียร์ของเราง่ายขึ้น ปลอดภัยขึ้น สมัยก่อนถ้าจะกรุเพดานกรุผนังด้วยกระจกมันก็จะมีความเสี่ยง แต่เดี๋ยวนี้มีวัสดุทดแทนกระจก คือ อะคริลิคใส ซึ่งน้ำหนักเบามาใช้แทนได้ ในทีมทำงานเราจะศึกษาอยู่ตลอดว่ามีอะไรใหม่ มีอะไรน่าทดลองเอามาใช้ เราชอบคิดชอบทดลอง เพื่อดูว่าผลมันจะเป็นยังไง ปลายว่าสถาปนิก อินทีเรียร์และดีไซน์เนอร์ทุกคนจะมีความเป็น R&D ในตัวเองอยู่แล้ว

               เรื่อง “การใช้วัสดุทดแทน” ในมุมมองของลูกค้าส่วนใหญ่จะคิดว่าต้องวัสดุธรรมชาติ 100% ถึงจะดี เรามักอธิบายลูกค้าเสมอว่า บางอย่างที่มันมาทดแทนมันช่วยได้จริง และทำให้เราทำร้ายธรรมชาติน้อยลงด้วย คือที่ Openbox เวลาเราใช้วัสดุจริง เช่นสั่งหินหรือไม้มา เราจะพยายามดู Cutting ตัดให้เหลือเศษไม้น้อยที่สุดหรือไม่เหลือเลย และช่วงหลังๆ มานี้ เราก็ลดการเลือกใช้วัสดุที่เป็นพลาสติกให้น้อยลงค่ะ การที่เราต้องคำนึงถึงธรรมชาติ เพราะว่าความจริงแล้วงานสถาปัตย์มันเป็นสิ่งที่อยู่นาน พอเราสร้างขึ้นมาแล้ว ตึกมันคือปูนและเหล็กที่ใช้คนหลายคนสร้างขึ้นมา มันสร้างผลกระทบต่อทุกสิ่ง...เราคิดขนาดว่า ถ้าจะสร้างตึกหลังนึง เงาตึกของเราจะไปบังใครไหม? ทำแล้วทิศทางลมจะไปกระทบกับรอบบ้านหรือเปล่า? เราทำบ้านแล้วเราหันหลังบ้านที่ตากผ้าไปหาเพื่อนบ้านหรือเปล่า?

               คือเราไม่ได้ดูแค่ว่า “บ้านเราวิวสวย” แต่เราต้องใส่ใจธรรมชาติ คน และบริบทรอบข้างด้วยถ้าเราไม่ใส่ใจถึงเรื่องเหล่านี้และออกแบบโดยที่ไม่คำนึงถึงคนอื่นและสิ่งอื่น มันจะกลายเป็นว่าเราอยู่โดยที่ไม่พึ่งพาใครเลย ทั้งที่จริงๆ แล้วทุกอย่างในโลกนี้ล้วนต้อง “อยู่แบบพึ่งพากัน” นะคะ

  • การเลือกต้นไม้มาแต่งสวน ควรเริ่มจากการดูว่าพื้นที่บ้านเราอยู่แถวไหน และพยายามเลือกต้นไม้ที่เข้ากับพื้นที่จะดีกว่า เช่น ถ้าอยู่ติดแม่น้ำก็ควรเลือกต้นไม้ที่ชอบน้ำ เพราะเขาจะหยั่งรากลึกได้ดีกว่าต้นไม้ที่ชอบที่แห้ง ลำต้นจะสวย ใบแผ่ หรือบ้านอยู่แถวภูเขาก็ต้องเลือกต้นไม้ที่ชอบดินแห้งๆ แต่ถ้าอยู่กลางเมืองก็จะเลือกได้หลากหลายหน่อย เพราะถ้าปลูกในกระถาง จะปลูกอย่างไรก็ได้อยู่แล้ว แต่หากจะปลูกลงดิน เช่น อยู่ริมน้ำแล้วไปเลือกต้นพญาสัตบรรณซึ่งไม่ชอบน้ำสักเท่าไหร่ มันจะอันตรายเพราะรากต้นไม้จะลอยขึ้นมาอาจไปงัดบ้านได้ และแทนที่เราจะมีสนามหญ้าสวยๆ เราก็จะเห็นรากต้นไม้เต็มไปหมดค่ะ
  • การแต่งห้องนั่งเล่น ควรจัดให้เห็น “ทางเดิน” ชัดๆ เพราะทางเดินที่มันตัดกันไปมา จะทำให้ห้องนั่งเล่นดูวุ่นวายและไม่น่านั่งพักผ่อน อีกประเด็น คือ ห้องนั่งเล่นเป็นพื้นที่ที่มีคนมาอยู่รวมกันเยอะ ซึ่งก็จะมีความชอบหรือความต้องการที่แตกต่างกันไป วิธีแก้ปัญหาให้แต่งห้องนั่งเล่นได้ถูกใจทุกคน ก่อนอื่นเลยคือทำให้มีที่เก็บของเยอะๆ ให้ห้องดูไม่รก มีเก้าอี้หรือโซฟาตัวใหญ่สักตัวนึง จากนั้นใส่ชิ้นเล็ก เช่น อาร์มแชร์ที่มีดีไซน์ต่างกันแต่โทนสีเข้ากันเพิ่มเติมเข้าไป เผื่อคนนี้ชอบนั่งสบาย คนนั้นชอบนั่งแบบมีที่วางเท้า อะไรทำนองนี้ก็ช่วยแก้ปัญหาได้ค่ะ
  • ถ้าอยากนอนหลับสนิท แนะนำให้ใช้ม่านทึบ (Blackout) ซึ่งม่านที่จะปิดได้มืดสนิท Trick คือวางซ้อนกันนิดนึง ทั้งส่วนที่ซ้อนกันตรงกลางและข้างๆ (กรณีที่เป็นม่านสองอัน) โดยเหลื่อมกัน 15 ซม. ซึ่งเป็นระยะที่จะช่วยบังแสงได้ดีที่สุดค่ะ

Favorite items

 

Living Inspiration @ SB Design Square

มุมนี้เป็นตัวอย่างของ “การคุมโทนสี” ได้ดีค่ะ คือ พื้นหลังเป็นสีขาวและสีน้ำตาลโทนเดียวกัน  มันเหมือนเวลาเรามองภาพวาดแล้วเห็นว่าสี Background มีแค่สีเดียว แล้วก็แต้มสีและองค์ประกอบตกแต่งอื่นๆ เข้าไป เช่น แก้ว แจกัน โคมไฟ ซึ่งสามารถเลือกแบบที่มีสีโดดเด่นได้  คือเวลาตกแต่งเรามักจะกำหนดให้ห้องนึงไม่ควรเกิน 2-3 โทนสีโดยเลือกเฉดที่มันใกล้ๆ กัน เพื่อไม่ให้สีมันดูเยอะจนเลอะไปหมดค่ะ

 

 

มุมนี้ก็เป็นอีกมุมที่เป็นตัวอย่างของ “การคุมโทนสี”  ค่ะ  แต่ใช้พื้นหลังเป็นโทนสีเข้ม แล้วก็มี Object ที่เป็นเหมือนตัวชูโรงในโทนสีที่เด่นขึ้นมา ถ้านำไปจัดวางในห้องที่มีพื้นที่กว้างขึ้นกว่านี้อีกนึด จะทำให้ Space ดูน่าอยู่มากขึ้นขึ้นค่ะ

 

ต้องการความช่วยเหลือทักแชตเลย

Live Chat With SB Design Squarex