2018 Week 45 :ไกรพล ชัยเนตร

2018week45
5 พฤศจิกายน 2018 8 view(s)
2018 Week 45 :ไกรพล ชัยเนตร

ABOUT HIM

ไกรพล ชัยเนตร (ดอน) :  “ผมเชื่อว่าถ้ามองงานสถาปัตยกรรมเป็นงานศิลปะ...ศิลปะที่มันจะอยู่ได้นาน มันต้องเป็นงานที่มีลักษณะ Open Ended Discussion  หมายถึง เราต้องวิพากษ์วิจารณ์หรือคุยเกี่ยวกับมันได้ ต้องตั้งเป็นคำถามปลายเปิดหรือทำอะไรที่มันรู้สึกว่า คนไม่แน่ใจว่ามันคือสิ่งนี้สิ่งนั้นหรือเปล่า มันจะช่วยสร้างความน่าสนใจให้ตัว Space มากขึ้น” สัปดาห์นี้มาพูดคุยกับ Director & Architect จาก Alkhemist Architects

ผมตั้งชื่อ Alkhemist โดยปรับมาจากคำว่า  Alchemist  ซึ่งเป็นคำที่ผมชอบมาก... มันเป็นภาษาอาหรับ แปลว่า นักเล่นแร่แปรธาตุ มีหนังสือเล่มนึงเขาบอกว่า ความสวยงามของโลกสมัยใหม่นี้เปรียบเหมือนกับการแพทย์ ที่เมื่อรักษาแล้วทุกอย่างจะถูกเปิดโปงให้เห็นเกือบหมด แต่ถ้าเป็นสมัยก่อนมันจะเปรียบเหมือนกับ Alchemist ที่มันจะมีความลึกลับบางอย่าง ซึ่งความไม่ชัดเจนตรงนี้เป็นมูลค่า มันมีความสวยงามที่น่าสนใจบางอย่างเกิดขึ้น ซึ่งผมชอบความคิดประมาณนี้...มันเหมือนกับว่าคุณค่าของบางสิ่งมันไม่จำเป็นที่จะต้องเปิดโปงให้รู้ทั้งหมด แต่ปล่อยให้มันมีความสงสัยและความคลุมเครือบางอย่าง มันจะทำให้เกิดความอยากค้นหามากขึ้น ซึ่ง “ความคลุมเครือ” ในงานสถาปัตยกรรม ก็เช่น บางทีเห็น Space แล้วก็เกิดความสงสัยว่ามันเป็น Public หรือ Private มันดูเหมือนจะเปิดโล่งแต่ก็ดูปกปิด หรือความรู้สึกกึ่งหนักหรือกึ่งเบาอะไรทำนองนั้นครับ

นอกจากนี้ ผมค่อนข้างจะเชื่อเรื่อง “กาลเทศะ”  ซึ่งในความหมายของผมคือ ผมเชื่อว่าทุกที่ทุกสถานการณ์มันมีเหตุของการที่สิ่งนั้นควรจะเป็นซึ่งแตกต่างกันในทุกๆ ที่  แม้กระทั่งโปรแกรมอันเดียวกัน ณ ที่เดียวกัน แต่เวลาเปลี่ยน ความต้องการมันก็จะเปลี่ยนไป ฉะนั้นคือ โดยพื้นฐานคำนี้ มันทำให้งานแต่ละที่หรือแต่ละจุด เราจะต้องมีการปรับเปลี่ยนมุมมองของเราหรือความคิดของเราเพื่อตอบสถานการณ์นั้นๆ ให้ได้ครับ  

Alkhemist เป็นบริษัทออกแบบเล็กๆ ที่อาจจะไม่มีลายเซ็นที่แสดงความเป็นเราอย่างชัดเจน แต่เรามี “นิสัยหรือรากของภาษา” ในการคิดหลงเหลืออยู่ในงานออกแบบแน่นอน ผมมีสองอารมณ์คือ ผมเป็นคนชอบความนิ่งๆ หรือความสงบ แต่ก็ไม่ได้ต้องการความเงียบที่เย็นชาเกินไป ผมยังต้องการให้มีความอบอุ่น...ความนิ่งซึ่งคือความปลอดภัย แต่การที่ผมชอบให้มันมีแสงแดดเข้ามาใน Space แล้วเห็นแสงอยู่บนผนังหรือกำแพง มันกลายเป็นความรู้สึกว่าบนความเงียบมันมีความอบอุ่นมันมีชีวิต ซึ่งความชอบนี้มันติดเป็นนิสัย  ฉะนั้นงานออกแบบของผมจะพยายามทำให้ห้องที่เป็นส่วนกลางของบ้าน มันมีความนิ่งแต่แสงธรรมชาติสามารถสอดแทรกเข้ามาได้  

เพราะแสงเงาจากธรรมชาติ มันมีความเป็นกวีในตัวมันเอง มันเหมือนเป็นธรรมดาของมนุษย์ที่ทำไมเราต้องเดินเข้าป่า เดินไปหาทะเล มองหาแสงแดด มันก็เป็นเหมือน Open Ended Discussion เพราะคนเราตีความหมายมันไม่เหมือนกันหรอกครับ เพียงแต่มันมีบางอย่างที่เกิดค่าทางวิทยาศาสตร์ บางอย่างที่พอจะเอามาพูดได้ เช่น แสงสว่างระดับนี้ทำให้อ่านหนังสือง่าย...ใช่ คือจะพูดแบบนั้นก็ถูก แต่ผมว่ามันมีความรู้สึกบางอย่างที่มากกว่านั้น ที่คนแต่ละคนอ่านไปหรือคิดไปไม่เหมือนกัน ผมว่าเราน่าจะโปรยสิ่งนี้กลับเข้ามาในงานสถาปัตยกรรมด้วยนะครับ ไม่งั้นบ้านมันจะกลายเป็นแค่ Industrial Product  

ในช่วงของการร่างแบบบ้าน ผมจะพยายามวาดห้องซึ่งไม่ได้วาดแค่ขนาดห้อง แต่พยายามจะวาง Layout ที่ลงรายละเอียดให้พอทราบว่าตำแหน่งเตียงควรวางตรงนี้ ตู้ควรอยู่ตรงนี้ เปิดประตูมาคุณควรเห็นหน้าต่างก่อน หรือควรจะเห็นตู้บังไว้ เพราะว่ามีทางของแสงหรือของอะไรอย่างนี้ คือ ผมคิดว่างานดีไซน์ เราควรจะคิดองค์ประกอบในหลายๆ ทางให้ครบทั้งหมด ทั้งการใช้สอยจริง ทิศทางของแสง ลม วิว และสิ่งแวดล้อมที่อยู่ข้างๆ แล้วดูว่าเราจะเอาสิ่งเหล่านี้มาประกอบและจัดวางองค์ประกอบยังไงเพื่อให้เขาได้ผลประโยชน์มากที่สุดครับ 

สำหรับบ้านที่ผมออกแบบ เรื่องเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว ผมจะพยายามให้ลูกค้าสนุกในการมาเลือกของเอง เพราะผมว่าเหมือนคนออกแบบเราช่วยสร้างกรอบหรือสร้างวิถีในการใช้ชีวิตคร่าวๆ ให้กับลูกค้า แต่ความเป็นบ้าน...มันคือ Home นะครับไม่ใช่ House มันจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคนที่ไปอยู่มีปฎิสัมพันธ์กับมัน ฉะนั้น ผมก็เลยเชื่อว่าการที่เขาได้เริ่มต้นในการเลือกของเข้ามาในบ้าน มันเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็น Home สำหรับเขา ซึ่งผมจะแค่คอยช่วยไกด์ว่าอย่างนั้นสวย อย่างนี้โอเค แต่จริงๆ จะพยายามจะกระตุ้นให้ลูกค้าเป็นคนเลือกให้มากที่สุดครับ นอกจากนี้ ผมยังมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างเฟอร์นิเจอร์บิลท์อินกับลอยตัว มันคือการสร้างสมดุลระหว่างองค์ประกอบภาพ  ซึ่งภาพมันควรจะมีทั้งส่วนที่เป็นฉากหลังที่ทำหน้าที่สนับสนุนให้เฟอร์ฯลอยตัวมันดูเด่น นอกเสียจากว่าเฟอร์ฯ บิลท์อินตัวนั้นเป็น Showcase มากๆ  สุดท้ายมันคือเรื่องของการสร้างองค์ประกอบภาพใน Space ของตัวเอง คุณก็ควรเลือกว่าอยากให้อันไหนเด่นอยู่ข้างหน้าหรืออันไหนจะไปเป็นฉากหลัง 

แต่จริงๆ แล้ว การที่บ้านจะสวยหรือไม่สวย มันก็ไม่ได้อยู่ที่เฟอร์นิเจอร์หรือการตกแต่งเพียงอย่างเดียว ผมมองว่าบ้านจะไม่สวยถ้าขาดคนอยู่ หรืออยู่แบบ “ไม่มีหัวใจ” มันก็ทำให้บ้านไม่น่าอยู่ครับ คำว่าอยู่อย่างมีหัวใจ ผมหมายถึงการอยู่แล้วมีปฎิสัมพันธ์กับบ้าน ไม่ใช่แค่เข้ามานอนหลับพักผ่อนแล้วออกไป ซึ่งสิ่งนี้มันจะเกิดขึ้นได้มันต้องอาศัยมุมมองของคนอยู่เป็นเรื่องหลักก่อน สุดท้ายงานสถาปัตยกรรมกับงานอินทีเรียร์มันจะเข้ามาเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยให้คุณอยู่แล้วมีหัวใจมากขึ้นได้จริง แต่ผมว่ามันก็เป็นแค่เครื่องมือ เพราะหลักๆ ต้องเริ่มจากคนซึ่งเป็นผู้อยู่อาศัยก่อนครับ 

ความสนุกของการเป็นสถาปนิก คือ การได้โจทย์ มันเหมือนเป็นปริศนาที่เราต้องพยายามแก้มันให้ได้ ความสนุกตอนที่เราได้จินตนาการว่าตัวเราเองเข้าไปอยู่ในที่นั้น ตั้งแต่ก่อนมันจะเกิดขึ้น พอเริ่มสร้างแล้วสิ่งที่เราจินตนาการไว้รูปร่างมันเป็นยังไง มันเหมือนกับที่เราคิดไว้หรือเปล่า ผมเชื่อเสมอว่าการดีไซน์ที่ดีมันคือต้องใส่ใจ คือต้องเอาตัวเองใส่เข้าไปอยู่ในนั้นครับ 

 

 

  • สำหรับคนที่อยากได้ห้องนอนสงบๆ เงียบๆ ผมแนะนำว่าทำยังไงก็ได้ให้มองไม่ค่อยเห็นประตู คือคำว่าห้องนอนเป็นเหมือนที่สุดท้ายที่เราปิดตัวเองจากโลกสาธารณะ  ในเชิงจิตวิทยา “ประตู” มันจะให้ความรู้สึกว่าเป็นจุดที่เราสามารถเดินเข้าออกจากโลกของเราไปยังโลกข้างนอกได้ เลยจะทำให้มีความระแวงนิดๆ ว่าจะมีอะไรจากข้างนอกเข้ามาได้  ส่วน “หน้าต่าง” ถ้าไม่มีระเบียง  มันจะรู้สึกปลอดภัยกว่า เพราะโอกาสที่ของข้างนอกหรือผู้บุกรุกจะเข้ามามันมีน้อยกว่า  และหน้าต่างก็ให้ความรู้สึกถึงสิ่งที่เราเลือกที่จะเปิดตัวเองไปหาข้างนอก ประตูก็ทำหน้าที่นั้นด้วย  แต่ก็จะมีความระแวงว่าจะมีใครบุกเข้ามาหาเราง่ายๆ  ดังนั้นจึงจะเลือกวางเตียงนอนให้ห่างประตู แล้วอาจจะสร้างมุมมองให้ตัวเองมองเห็นหน้าต่างแทน
 
  • ปกติมนุษย์เราจะต้องการความสมดุลของสิ่งสองสิ่ง คล้ายๆว่า ใจนึงเราอยากเติบโต แต่อีกใจนึงเราก็กลัวการพังทลายของร่างกาย (คือความไม่แน่นอน) กลัวร่างกายเสื่อมโทรมอะไรแบบนี้อยู่  พื้นฐานของสองสิ่งนี้ผมว่ามันเป็นเสน่ห์ของการใช้ชีวิตโดยทั่วไป แต่พอมันเป็นบ้านปุ๊บ เนื่องจากเรามองว่าบ้านเป็นสถานที่ชาร์ตแบตให้เราได้  แล้วทำไง ให้ตัวเรารู้สึกเกิดแรงบันดาลใจได้มากขึ้น ซึ่งมันก็จะมาจากอะไรที่เป็นความรู้สึกนิ่งและมั่นคง  เช่น การหาเฟอร์นิเจอร์ตัวใหญ่ หรือโครงสร้างใหญ่ เช่น เตียงขาใหญ่ มันก็ให้ความรู้สึกถึงความมั่นคงแข็งแรงมากขึ้น  แล้วมาตกแต่งร่วมกับหมอนที่มีสัมผัสนุ่ม มันก็เป็นความรู้สึกที่สบาย  แล้วมันจะกลายเป็นว่าเกิดการอยู่รวมกันระหว่างความรู้สึกของสองสิ่ง
 
  • ถ้าอยากเพิ่มเรื่องแสงเงาหรือกลิ่นอายธรรมชาติให้กับบ้าน อย่างแรกเลย ส่วนตัวผมจะพยายามทำให้บ้านโล่งที่สุดเท่าที่จะโล่งได้ เพราะความโล่งมันทำให้เกิดความสงบได้มากขึ้น สองคือพยายามถามตัวเอง หาความซื่อสัตย์ในตัวเองว่า กิจกรรมไหนคือสิ่งที่ฉันชอบ เพราะการจะทำให้บ้านโล่งได้ แปลว่าเราต้องพยายามเลือกที่จะตัดทอนหรือไม่พยายามไปสุมบางอย่างที่ไม่จำเป็น  คำว่า “ไม่จำเป็น” ก็คืออะไรที่ไม่เป็นตัวตนของเรา แล้วก็พยายามใส่ใจเรื่องตัวเองอาจจะไปหาอุปกรณ์หรือสร้างกิจกรรมบนพื้นที่ตรงนั้น แล้วก็ดึงพื้นที่กิจกรรมนั้นไปใกล้แสงธรรมชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

Favorite items

Favorite Corners in SB Design Square

ชอบมุมนี้ เพราะผมเป็นคนชอบงานกึ่งคลาสสิคครับ เพราะแนวคิดคลาสสิคมันมีพื้นฐานของ Timeless คือ เป็นเรื่องของงานทำระบบที่ไม่หวือหวามากเกินไป มันจะนิ่งและอยู่ได้นาน ซึ่งมุมนี้มันก็จะมีอารมณ์ของการที่ไม่สมัยใหม่มากเกินไป แต่ก็ดูแล้วไม่ได้เก่าเกินไปเช่นกัน

ชอบมุมนี้ เพราะมันมีความ Contrast ระหว่างวัสดุเหล็กกับของที่ดูนุ่มนวลและอบอุ่น มันเหมือนมีความเย็น แล้วก็มีความอุ่น แล้วก็เป็นสไตล์ที่โชว์ความซื่อสัตย์ของโครงสร้างจริงครับ

ต้องการความช่วยเหลือทักแชตเลย

Live Chat With SB Design Squarex