2018 Week 28 : กฤษณ์พงศ์ เกียรติศักดิ์

2018week28
9 กรกฎาคม 2018 8 view(s)
2018 Week 28 : กฤษณ์พงศ์ เกียรติศักดิ์

ABOUT HIM

กฤษณ์พงศ์ เกียรติศักดิ์ (กบ) :  สำหรับใครที่เคยดู “อยู่สบาย”... รายการสำหรับคนรักบ้านและงานดีไซน์ทางเนชั่นทีวี  เชื่อว่าคุณคงคุ้นหน้าคุ้นตากับ “อาจารย์กบ” เป็นอย่างดี ในฐานะพิธีกรร่วมดำเนินรายการ  ซึ่งนอกจากงานพิธีกรทางทีวีและในงานเสวนาด้านดีไซน์ต่างๆ แล้ว  อีกหลายบทบาทของอาจารย์กบที่ผ่านมาก็ล้วนแต่น่าสนใจ

อาจารย์กบ คือ ผู้ก่อตั้งหลักสูตรของคณะศิลปกรรม มหาวิทยากรุงเทพ   และหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  รวมถึงหลักสูตร Interior Architect มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี และหลักสูตรของคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร  อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในทีมสถาปนิกที่ออกแบบศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่ใช้เวลาสร้างเพียง 18 เดือน เพื่อรองรับการประชุมของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ  เมื่อปี 2534  และอาคารสำนักงานใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย  ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่บนถนนราษฎร์บูรณะ ตั้งแต่ปี 2538 และอีกหลากหลายโปรเจคที่น่าสนใจ

“ในส่วนของงานออกแบบก็ทำมาหมดแล้วครับ ตั้งแต่สำนักงาน ศูนย์ประชุม โรงแรม สนามบิน ศูนย์การค้า สนุกมาพอแล้วครับ ตอนนี้เกษียณแล้ว แต่ก็ยังรับออกแบบงานประเภทบ้านพักอาศัยอยู่ครับ  ทำทั้งส่วนสถาปัตย์และอินทีเรียร์ดีไซน์  สไตล์ของผมจะหนักไปทาง Artistic มากกว่า Scientific คือ วิชาสถาปัตย์เป็นวิทยาศาสต์บวกศิลปะ  คือมันเริ่มตั้งแต่ User Behavior และก็ดูดิน น้ำ ลม ไฟ พื้นที่ใช้สอย  ใน 1 ตร.ม. ต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ แล้วก็ใส่เรื่องของดีไซน์เข้าไปด้วย”

ผมมองว่างานออกแบบตกแต่งบ้านมันเหมือนการตัดเสื้อ บางคนอาจไม่จำเป็นต้องตัดเสื้อใส่ ถ้ารูปร่างคุณตรงตามเบอร์เสื้อที่ขายอยู่ทั่วไป  แต่บางคนที่ชีวิตเขามีวาระพิเศษ เช่นแต่งงาน เขาก็อาจจะอยากได้เสื้อผ้าที่ตัดพิเศษ ให้เหมาะกับโอกาสและพอดีกับรูปร่าง  คือแต่ละโจทย์งานที่เข้ามามันไม่เหมือนกัน Output ก็ไม่เหมือนกัน เราก็สนุกกับการที่ได้เห็นว่า ท้ายที่สุดแล้วบ้านหลังนี้มันจะออกมาเป็นยังไง แล้วก็เป็นหน้าตา “ที่ใช่” สำหรับแต่ละครอบครัวที่เราออกแบบให้

หน้าที่ของนักออกแบบ คือ เราต้องรู้ว่า User เป็นใคร ซึ่งนอกจากเจ้าของบ้านและลูกๆ แล้ว ก็ยังหมายรวมไปถึงแม่บ้าน แม่ครัว และสัตว์เลี้ยงของเขาด้วย  บ้านหลังนึง ใช้เวลาสร้างอย่างน้อย 1 ปี ออกแบบวันนี้ พรุ่งนี้ก็ล้าสมัยแล้ว เราต้องออกแบบเผื่อ 10 ปี ข้างหน้า คือสถาปนิกและอินทีเรียร์ดีไซน์เนอร์มีหน้าที่ Predict และ Forecast ว่าถ้าคุณเลือกแบบนี้ให้ลูกค้าแล้วจะเกิดอะไรขึ้น จะเจอกับอะไร ควรเลือกไหม หรือถ้าต้องเลือก ก็ต้องรู้ว่ามันจะมีปัญหาหรืออะไรตามมา มันเป็นความรับผิดชอบที่คุณต้องบอกลูกค้า

            ความท้าทายในงานออกแบบตกแต่ง ไม่ใช่เรื่องของ Design Process แต่คือเรื่องของ Design Management คือการทำให้งานออกแบบของเราอยู่ในงบประมาณและระยะเวลาที่กำหนด...เรื่องดีไซน์ว่ายากแล้ว แต่เรื่องการจัดการนี้ยากกว่า เพราะคุณจะออกแบบให้สวยยังไงก็ได้ แต่ประเด็นคือ...ที่ว่าสวยนั้นอยู่ในงบไหมและจะเสร็จทันกำหนดเวลาหรือเปล่า มันต้องใช้ความสามารถมาก แต่ประสบการณ์จะสอนคุณเอง

  • ห้องนอนสำหรับคู่แต่งงาน ต้องออกแบบให้ “อยู่แล้วไม่หย่า” คือ ไม่ใช่ว่าพอคนนึงตื่นขึ้นมาใช้ห้องน้ำ พอเปิดประตู้ห้องน้ำแล้วไฟส่องมาที่เตียงหรือกดชักโครกแล้วเสียงดังรบกวนอีกคน หรือใครที่ตื่นก่อนแล้วลุกขึ้นมาแต่งตัว ก็เปิดไฟ อาบน้ำ เป่าผม ทำให้เกิดเสียงดัง ไฟแยงตา มันสร้างความหงุดหงิดให้อีกคนได้ มันเป็นฟางเส้นเดียว  ที่อาจทำให้เกิดความร้าวรานในครอบครัวได้  ดังนั้นเวลาออกแบบก็ต้องใส่ใจในรายละเอียดตรงนี้ด้วย เช่น อาจต้องแยกพื้นที่กันระหว่างที่นอนและห้องแต่งตัว  หรือทำห้องแต่งตัวที่เก็บเสียง เป็นต้น  
 
  • การเลือกกระเบื้อง ก็ต้องเลือกให้ถูก อันไหนกระเบื้องพื้น อันไหนกระเบื้องผนัง เพราะคุณสมบัติมันต่างกัน  ไม่ใช่ว่าเห็นแค่สวยก็เลือกเลย...“กระเบื้องพื้น” ถ้าเปียกแล้วต้องไม่ลื่น  เดินจะได้ไม่ล้ม  ส่วน “กระเบื้องผนัง” ถ้าเปียกน้ำแล้วต้องลื่น เพื่อไม่ให้คราบเกาะ
 
  • ตอนนี้เราอยู่ในสังคมผู้สูงอายุ การออกแบบตกแต่งบ้านก็ควรคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย ทำให้มันเป็น Universal Design เตรียมไว้สำหรับพ่อแม่ หรือตัวเราเองในอนาคต  เพื่อจะอยู่ได้อย่างสะดวกสบาย เช่น ประตูห้องน้ำต้องเป็นขนาดที่วีลแชร์เข้าไปได้  ลูกบิดประตูแบบหมุนก็ควรเปลี่ยนเป็นก้าน เพราะผู้ใหญ่จะไม่มีแรงหมุน และควรเป็นวัสดุที่เป็นฉนวน  เพราะถ้าอากาศแห้งพวกโลหะจะเกิดไฟฟ้าสถิต ขนาดเราที่ว่าแข็งแรงเวลามือไปแตะเรายังสะดุ้งเลย  บางทีก็เจ็บแปลบๆ   แล้วถ้าเป็นผู้สูงอายุที่เป็นโรคหัวใจ  มันอาจทำให้เขาตกใจหรือล้มลงได้
 
  • เวลาทำบ้าน มี 2 ห้องที่ไม่ต้องประหยัด คือ ห้องน้ำและห้องครัว เพราะมันเปลี่ยนยาก ไม่ว่าจะกระเบื้อง สุขภัณฑ์ ระบบน้ำ ระบบไฟ  แนะนำว่าให้ลงทุนไปเลย  ใช้ของดีๆ ไปเลย เพราะมันคือโครงสร้างพื้นฐานของบ้าน  เรื่องเฟอร์นิเจอร์ซื้อเมื่อไหร่ก็ซื้อได้ แต่ถ้าจะให้คุณมาเดินสายไฟเพดานใหม่ทีหลังนี่ บ้านช้ำเลยนะ
 
  • เดี๋ยวนี้ "ห้องครัว" กลายเป็น Living Kitchen คือ เราทำอาหารเลี้ยงเพื่อนในครัว  ลูกทำการบ้านในครัว  มีทีวีในครัว และอีกสารพัดกิจกรรม  การที่คุณตกแต่งครัวโดยเลือกเฟอร์นิเจอร์หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ทำให้คุณจ่ายน้อย ไม่ได้แปลว่าคุณได้ของถูกนะ !  บางทีมันจะกลายเป็นของแพงไปด้วยซ้ำ !  เพราะคุณภาพไม่มี ความแข็งแรงทนทานของวัสดุไม่มี  ใช้ได้ไม่กี่เดือนวัสดุก็หลุดหมด อย่างพวกบานพับหรือรางลิ้นชัก คุณควรต้องเลือกใช้ของที่ดีมีคุณภาพ

          ขอบคุณภาพจาก ทีมออกแบบรายกรอยู่สบาย

Favorite items

Favorite Corners in SB Design Square

ชอบที่วอลเปเปอร์...วอลเปเปอร์เป็นสิ่งที่ทำให้  Mood & Tone ของบ้านเปลี่ยนได้ สามารถเปลี่ยนตามอายุงานได้ เช่น 2-3 ปี ก็เปลี่ยน  ซึ่งถ้าเปลี่ยนเป็นลายเป็นดอก มันก็สามารถเปลี่ยนสไตล์ได้เลย  ห้องนี้จะออกเป็นนีโอคลาสสิค ด้วยโทนของมันเป็นซีเปีย ถ้าเกิดคุณเปลี่ยนเป็นฟ้าชมพู มันก็จะได้อีกอารมณ์นึง  มันเป็นวิธีเปลี่ยนบ้านที่น่าจะลงทุนน้อยที่สุด

ชอบมุมนี้เพราะมันมีความเป็นลักซ์ชัวรี่ แต่ว่าไม่แข็งหรือดูเป็นทางการมากเกินไป เพราะมันมีความเป็นคลาสสิคเข้ามา ขณะเดียวกันมันมีกลิ่นของความเป็นคันทรี คือมี Texture ของไม้ เพราะฉะนั้นมันมีทั้งความหรูหรา ผ่อนคลาย และเป็นกันเอง

ต้องการความช่วยเหลือทักแชตเลย

Live Chat With SB Design Squarex